ละครเวทีร่วมสมัย"ลังกาสิบโห" หรือ รามเกียรติ์ ฉบับไทลื้อ ซึ่งให้แง่คิดความชั่วร้ายต้องพ่ายกับความดี โดยที่มี "อินปั๋น" ตัวละครเอกหนุ่มน้อยชาวไทลื้อที่ยึดมั่นทำความดีกลับสามารถหยิบธนูดวงใจขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย ขณะที่ "ภุมมจัก" ตัวร้ายในละครไม่สามารถหยิบธนูดวงใจขึ้นมาได้ทั้งที่ท้าวมหาพรหมผู้เป็นพ่อได้เตือนสติให้ตั้งตนอยู่ในศีลธรรม ซึ่งเรื่องราวเกิดขึ้นในยุคที่มีการต่อสู้แย่งชิงของหลายฝ่ายที่หวังครอบครองธนูในดวงใจ
ทั้งนี้ "ลังกาสิบโห" ยังสอดคล้องกับตำนานกำเนิดมนุษย์ในเรื่องปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ของชาวไทลื้อ ที่กล่าวถึงจิตใจมนุษย์ที่เป็นทั้งสิ่งที่สว่างที่สุดและมืดที่สุด ในที่นี้ธนูดวงใจคือสัญลักษณ์ความดี หากไม่สามารถรักษาไว้ได้ ก็อาจทำเรื่องเลวร้ายโดยไม่รู้ตัว ละครเวทีเรื่องนี้เป็น 1 ในงานวิจัย "รามเกียรติ์ : ก้าวหน้าจากรากแก้ว" ของภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบค้นวรรณกรรมนำมาทำละคร และร่วมพัฒนาเนื้อหากับนิสิตชวนกันขบคิดถึงสิ่งเลวร้ายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนในปัจจุบัน เช่น ปัญหาทะเลาะวิวาท ทำร้ายกันบนรถเมล์ เพื่อออกแบบการแสดงให้ได้แง่คิดสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ลังกาสิบโห ถือเป็นละครเวทีร่วมสมัย ที่นำศิลปะการแสดงเต้นโขน ผสมผสานกับศิลปะการฟ้อนเจิง ของชาวไทลื้อ ละครเรื่องนี้ร่วมสร้างสรรค์โดยนิสิตภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาวิชาดนตรีคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับเชิญไปแสดงใน เทศกาล 2012 Asia pacific Bureau of Theatre Schools Festival and Directors Conference ที่ไต้หวัน ในเดือน ก.ย.นี้