ผอ.ควบคุมโรคที่ 7 อุบลฯ ตั้งศูนย์รับผู้ป่วยโรค มือ เท้า ปาก หลังพบผู้ป่วยจำนวนมาก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากในหลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ติดแนวชายแดนไทยกัมพูชา ในจ.ศรีสะเกษ, สุรินทร์ และจ.อุบลราชธานี ขณะนี้พบผู้ป่วยแล้ว 640 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อคอกซากี สายพันธุ์เอ และสายพันธุ์บี ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง และสามารถรักษาให้หายได้ แตกต่างจากเชื้อที่ระบาดในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน คือ สมองอักเสบ ปอดอักเสบ และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กที่ติดเชื้อเสียชีวิต
นายแพทย์สรายุทธ อุตตมางคะพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี ระบุว่า การติดเชื้อโรคมือเท้าปากในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันกว่า 3 เท่าตัว โดยเฉพาะที่จ.อุบลราชธานี มีผู้ป่วยมากที่สุดจำนวน 304 ราย
โดยขณะนี้ มีการตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่ติดชายแดนไทยกัมพูชา เช่น ที่จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ที่อาจเป็นช่องทางการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และให้โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เป็นศูนย์กลางในการรับส่งผู้ป่วย รวมถึงการจัดทีมแพทย์เด็ก รณรงค์ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนไทย -กัมพูชาเพื่อให้ความรู้และวิธีการป้องกันการติดเชื้อให้กับประชาชน ส่วนที่จ.ลำปาง โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ ยังคงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคมือ เท้า ปาก หลังพบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วย โรคนี้จำนวน 186 ราย สูงสุดที่อ.แจ้ห่ม 37 ราย รองลงมาเป็นอ.เมือง 34 ราย
ขณะที่นายแพทย์ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สาธารณสุขจ.ลำปาง เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือเวียนให้ โรงพยาบาลประจำอำเภอ และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์โรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิด หากพบให้รีบรายงานมายังสำนักงานสาธารณะสุข เพื่อจัดทีมแพทย์เข้าไปให้การรักษา และ ทำความสะอาดกำจัดเชื้อโรด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทันที
ขณะที่ จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกัน และควบคุมโรค เทศบาลนครเชียงใหม่ ต้องเข้าให้ความรู้วิธีการป้องกันโรค มือ เท้า ปาก แก่ครูผู้สอน รวมทั้งเด็กเล็ก ภายในศูนย์พัฒนาเด็ก สังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ หลังพบเด็กในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก แล้ว 26 ราย