สถาปัตยฯ มจธ.โชว์วิทยานิพนธ์และศิลปนิพนธ์ Thought Through Thesis 2012 ตอบโจทย์สังคม
นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ โชว์ 120 ผลงานวิทยานิพนธ์และศิลปนิพนธ์ ในนิทรรศการ "THOUGHT THROUGH THESIS 2012" ภายใต้แนวคิด “คิดเชิงวิจารณญาณเพื่อตอบโจทย์ด้านสังคม” เป็นหลัก
งานแสดงนิทรรศการ "THOUGHT THROUGH THESIS 2012" ครั้งที่ 2 ผลงานศิลปนิพนธ์ 120 ผลงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดแสดง ณ คริสตัลดีไซน์เซ็นเตอร์ (CDC) ที่รวบรวมผลงานของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2011 จาก 4 สาขา ได้แก่ สาขาสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมภายใน สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม และสาขาออกแบบนิเทศศิลป์มาจัดแสดง ซึ่งผลงานทั้งหมดเน้นการตอบโจทย์ด้านสังคมเป็นหลัก
ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า แนวคิดของการทำวิทยานิพนธ์และศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาเป็นการสื่อสารต่อสาธารณชนว่าทางคณะมีการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อให้นักศึกษาเป็นนักออกแบบที่มีคุณสมบัติในการสร้างสรรค์ (creativity) สูง การฝึกคิดเชิงวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งต้องมีเหตุผล แรงบันดาลใจ และที่สำคัญนิทรรศการครั้งนี้เป็นการสะท้อนไอเดียของนักศึกษาให้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดได้
“การเรียนการสอนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จะสอนให้นักศึกษามีทักษะทางการคิด ลงมือปฏิบัติและมีการปรับใช้ให้นักศึกษาเข้าใจในเรื่องบริบทของสังคมมากขึ้น เพราะการลงมือปฏิบัติร่วมกับผู้ประกอบการจะทำให้นักศึกษาได้สัมผัสกับประสบการณ์จริง ซึ่งจะช่วยทำให้นักศึกษามีทักษะในการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนมากขึ้น ขณะที่ผู้เข้าชมนิทรรศการจะเห็นถึง แนวคิดผลงานของนักศึกษาที่นำเสนอชิ้นงานแต่ละชิ้น ขึ้นอยู่กับคอนเซปต์แต่ละคนว่าอยากจะสะท้อนอะไรให้กับสังคม ซึ่งทางคณะคิดว่าจะจัดการแสดงวิทยานิพนธ์และศิลปนิพนธ์ต่อไปทุกปี”
นายกอทอง ทองแถม ณ อยุธยา นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ สาขาสถาปัตยกรรม กล่าวถึงผลงานการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ชื่อ “อยู่กับน้ำ (Living with water)” ว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากโจทย์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นคือปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่าน โดยเลือกชุมชนบ้านปากคลอง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมสูงและซ้ำซากทุกๆ ปีทำวิจัยเล็กๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สุดเกี่ยวกับสภาพปัญหาและการใช้ชีวิตทั้งช่วงก่อนและหลังน้ำท่วมตั้งแต่มกราคม-ธันวาคมก่อนลงมือทำวิทยานิพนธ์
“ก่อนตัดสินใจที่คิดทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ผมอยากจะทำวิทยานิพนธ์ที่เป็นโครงการใหญ่ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ สนามบิน หรือโรงแรม แต่ในช่วงนั้นรู้สึกประเทศของเรามีปัญหาเยอะ ประกอบกับคนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่เห็นคุณค่าของงานสถาปัตยกรรม ที่สามารถใช้แนวคิดบางอย่างเปลี่ยนแปลงหรือช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ เมื่อผมเห็นปัญหาที่บางระกำ ผมไปดูพื้นที่จริง ได้เข้าไปคุยกับชาวบ้าน จึงมีแนวคิดในการสร้างโปรแกรมสร้างหมู่บ้านขึ้นมา 3 แบบ ที่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตลอดเวลาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง”
แบบบ้านอยู่กับน้ำของกอทองมี 3 แบบคือ บ้านเกษตรกร บ้านค้าขาย และบ้านประมง ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป เช่น บ้านประมง จะแก้ไขปัญหาของชาวประมงที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่สำหรับประกอบอาชีพในช่วงน้ำท่วม แบบบ้านเกษตรกรที่มีพื้นที่ส่วนรับน้ำฝนเมื่อฤดูแล้งและพื้นที่สำหรับปลูกผักได้จำนวนมากๆ ในช่วงที่น้ำท่วม หรือแบบบ้านสำหรับผู้มีอาชีพค้าขาย ซึ่งมีพื้นที่ร้านค้าอยู่ส่วนล่างสุด มีท่าเรือสำหรับลูกค้าเทียบเรือซื้อสินค้า สิ่งที่เหมือนกันของแบบบ้านทั้ง 3 คือมีส่วนที่แยกตัวออกมาเป็นโป๊ะ 3 - 4 ชั้น สามารถลอยขึ้นลงตามระดับน้ำ และที่สำคัญบ้านทุกแบบมีใต้ถุนสูงกว่า 4 เมตรเพื่อหนีน้ำในช่วงน้ำหลากสูงสุดของ อ.บางระกำ
ด้าน นางสาวรัชนิกานต์ เผ่าวิจารณ์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม เจ้าของผลงาน “ชุดยังชีพสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม (Survival food kit for Flood Relief)” ผลงานวิทยานิพนธ์ ที่มีแนวคิดตอบโจทย์เกี่ยวกับปัญหาถุงยังชีพที่ใช้เดิมเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งโครงสร้างของชุดยังชีพดังกล่าวถูกออกแบบจากกระดาษรีไซเคิลขึ้นรูป ทำจากวัสดุกันน้ำ100% และสามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 28.87 กิโลกรัม
“จากการค้นคว้าหาข้อมูล พบว่าน้ำท่วมเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย และสิ่งที่ตามมาคือปัญหาถุงยังชีพที่ใส่อาหารมักเกิดความเสียหายจากการกระแทกระหว่างการขนส่ง เพราะอาหารที่บริจาคให้กับผู้ประสบภัยส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารกระป๋อง เมื่อกระป๋องบุบจะไม่ปลอดภัยในการบริโภค จึงเกิดแนวคิดในการทำถุงยังชีพที่จะปกป้องอาหารที่อยู่ข้างใน สามารถเก็บอาหารไว้ได้หลายวัน ขณะเดียวกันการขนส่งสะดวกสามารถลากในน้ำได้ และเป็นมิตรต่อผู้บริโภค”
ขณะที่ผลงงานของ นายภูมิชยะ ประคองเพชร นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมภายใน เจ้าของผลงานศูนย์ข้อมูลกลางช่วยเหลือผู้ประสบภัย DAR (Disaster Aid Relief and management Center) เปิดเผยว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากการเกิดสึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2554 โดยแบบจำลอง DAR ในครั้งนี้เป็นศูนย์ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ DAR เป็นศูนย์ข้อมูลกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่รองรับโปรแกรมช่วยเหลือภัยพิบัติต่างๆแบ่งการทำงานเป็น 2 หน่วย หน่วยแรกจะเป็นศูนย์กลางคอยบัญชาการ ส่วนอีกหน่วยจะเป็นโหนดหรือเป็นหน่วยเคลื่อนที่เล็กๆ กระจายความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ในภาวะปกติ DAR จะเป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูล ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งพื้นที่ภายในศูนย์สามารถดัดแปลงจัดประชุม หรือจัดคอนเสิร์ตแชร์ริตี้ เพื่อเป็นการต่อยอดรองรับและให้ประโยชน์กับชุมชนนั้นๆได้อย่างครบวงจร