ครบรอบ 45 ปีการตกสู่ชั้นบรรยากาศของ “สถานีอวกาศ Skylab”


Logo Thai PBS
แชร์

ครบรอบ 45 ปีการตกสู่ชั้นบรรยากาศของ “สถานีอวกาศ Skylab”

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1408

ครบรอบ 45 ปีการตกสู่ชั้นบรรยากาศของ “สถานีอวกาศ Skylab”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันที่ 11 กรกฎาคม 1979 สถานีอวกาศ Skylab ตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก สิ้นสุดยุคสมัยของสถานีอวกาศของสหรัฐอเมริกา ในบทความนี้จะพาไปย้อนถึงเหตุการณ์การเสียสถานีอวกาศ Skylab ไป และสิ่งที่เราเรียนรู้จากสถานีอวกาศนี้

สถานีอวกาศ Skylab คือสถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา 8 กุมภาพันธ์ 1974 หลังจากสิ้นสุดภารกิจสุดท้ายของ Skylab ลูกเรือได้ปรับวงโคจรของสถานีอวกาศ Skylab ให้ได้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรอการมาถึงของกระสวยอวกาศเพื่อต่ออายุการใช้งานสถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายสุดท้ายของสถานีอวกาศ Skylab จากลูกเรือภารกิจ Skylab 4

ในเวลานั้นลูกเรือคาดการณ์ว่าสถานีอวกาศ Skylab จะสามารถค้างอยู่ในวงโคจรได้นานถึงปี 1983 ซึ่งเวลานั้นกระสวยอวกาศจะสามารถขึ้นไปทำภารกิจเพื่อต่ออายุของสถานีอวกาศ Skylab ได้ แต่สถานการณ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น อันดับแรกคือความล่าช้าของการพัฒนาโครงการกระสวยอวกาศที่ทำให้ภารกิจแรกที่จะส่งขึ้นสู่อวกาศล่าช้าออกไปจนถึงช่วงทศวรรษที่ 1980 อันดับที่สองคือกิจกรรมบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศและสถานีอวกาศ Skylab มากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ในช่วงวัฏจักรสูงสุดของดวงอาทิตย์หรือ Solar Maximum ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยมวลสารจำนวนมหาศาลออกสู่อวกาศ ซึ่งสิ่งนี้รบกวนพฤติกรรมของชั้นบรรยากาศโลกและท่าทางของสถานีอวกาศ Skylab ที่โคจรอยู่รอบโลก ก่อนที่สถานีอวกาศ Skylab จะยุติการใช้งาน ทางสถานีภาคพื้นได้ปรับท่าทางของสถานีอวกาศให้ขนานกับพื้นโลกเพื่อลดแรงต้านอากาศจากชั้นบรรยากาศเพื่อให้สถานีอวกาศค้างอยู่ในวงโคจรมากที่สุด แต่การที่ปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์นั้นรุนแรงมากในช่วงเวลานั้นทำให้พฤติกรรมภายในชั้นบรรยากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปและนั้นส่งผลให้สถานีอวกาศ Skylab เปลี่ยนท่าทางไปจากที่มันถูกตั้งค่าไว้แต่แรก

ภาพถ่ายสถานีอวกาศ Skylab ขณะที่ยาน Apollo ในภารกิจ Skylab 3 กำลังบินวนรอบสถานีวอวกาศเพื่อทำการเชื่อมต่อกับตัวสถานี

ในปี 1977 ได้มีการประเมินว่าหากไม่ดำเนินการใด ๆ ภายในกลางปี 1979 สถานีอวกาศ Skylab จะตกลงสู่ชั้นบรรยากาศของโลกอย่างไร้การควบคุมและนั่นหมายความว่าอาจจะเป็นอันตรายต่อพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนได้ จึงได้มีการติดต่อกับสถานีอวกาศ Skylab อีกครั้งหนึ่งในช่วงมิถุนายน 1978 เพื่อควบคุมสถานีอวกาศอีกครั้งหลังจากไม่มีการควบคุมตลอดระยะเวลา 4 ปี ถึงแม้ว่าตัวสถานีอวกาศจะไม่ได้มีเชื้อเพลิงในการขับดันเพิ่มวงโคจรด้วยตัวของมันเองแต่ว่าทางภาคพื้นยังสามารถปรับท่าทางของสถานีอวกาศให้อยู่ในท่าทางที่ต้านกระแสอากาศภายในชั้นบรรยากาศให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เพื่อยืดเวลาการโคจรของสถานีอวกาศ

การปรับท่าทางของสถานีอวกาศ Skylab ทำให้ตัวของมันสามารถโคจรรอบโลกได้นานขึ้นอีก 3 เดือนครึ่ง แต่นั่นก็ไม่เพียงพอสำหรับการยืดเวลาให้พอดีกับการมาถึงของกระสวยอวกาศที่จะทำภารกิจในการปรับวงโคจรของสถานีอวกาศได้ทัน

ในปลายปี 1978 ได้มีการประกาศยกเลิกโครงการต่ออายุสถานีอวกาศ Skylab ด้วยการส่งกระสวยอวกาศเร่งความเร็วของสถานีอวกาศ และยกเลิกความพยายามในการปรับวงโคจรของสถานีอวกาศ Skylab ระหว่างที่สถานีอวกาศ Skylab ตกกลับมายังโลกนั้น ตัวสถานีจะถูกควบคุม และจะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพลเรือน

ภาพวาดโครงการสานต่ออายุสถานีอวกาศ Skylab ผ่านการใช้ภารกิจกระสวยอวกาศในการเชื่อมต่อและเร่งความเร็วของตัวสถานีอวกาศไม่ให้ตกลงโลก

ในช่วงต้นปี 1979 ได้มีการควบคุมให้ตัวสถานีอวกาศอยู่ในท่าทางที่แผงโซลาเซลล์บนสถานีจะได้รับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่เพื่อให้ยังสามารถควบคุมตัวสถานีอวกาศต่อจากนี้ได้ เนื่องจากว่าในช่วงหลังจากนี้ที่สถานีอวกาศเข้าใกล้พื้นโลกมากยิ่งขึ้น ตัวสถานีอวกาศจะยากต่อการควบคุมทิศทางของตัวมันเองจากแรงต้านอากาศของชั้นบรรยากาศ และมีการควบคุมท่าทางของสถานีอวกาศขั้นสุดท้ายในช่วงเดือนปลายมิถุนายน 1979 ก่อนการตกให้มีท่าทางที่ต้านกระแสอากาศให้มากที่สุดเพื่อให้สถานีอวกาศถูกเผาไหม้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งสถานีอวกาศได้ตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในวันที่ 11 กรกฎาคม 1979 ระยะทางที่มันเผาไหม้ยาวถึง 5,600 กิโลเมตร และเนื่องจากสถานีอวกาศ Skylab คือสิ่งประดิษฐ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยส่งออกไปนอกอวกาศในช่วงเวลานั้น ทำให้มีชิ้นส่วนหลายชิ้นส่วนเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศไม่หมดและตกสู่พื้นดิน และพื้นที่ที่เศษชิ้นส่วนของสถานีอวกาศ Skylab ตกนั้นอยู่ในบริเวณทะเลทรายออสเตรเลีย ซึ่งได้ก่อให้เกิดเสียงระเบิดดังจนผู้คนในแถบเอาต์แบ็ก (Outback) แตกตื่นตกใจ

ภาพถ่ายชิ้นส่วนของสถานีอวกาศ Skylab ที่ตกลงมายังโลกและถูกเก็บกู้กลับมา จัดแสดงอยู่ที่ U.S. Space & Rocket Center ภาพถ่ายโดย Craigboy

สิ่งที่เราเรียนรู้จากการตกของสถานีอวกาศ Skylab เป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมการตกของสถานีอวกาศขนาดใหญ่ที่โคจรอยู่รอบโลก อย่างในกรณีของสถานีอวกาศเมียร์ (Mir) ของสหภาพโซเวียต ได้มีการนำบทเรียนของทั้งจากสถานีอวกาศ Skylab และจากสถานีอวกาศของตัวเองมากมายที่ตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมาใช้เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าตัวสถานีอวกาศจะอยู่ในการควบคุมตลอดการตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เพราะสถานีอวกาศเมียร์คือสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นในเวลานั้นรัสเซียจำเป็นต้องใส่ใจการตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของสถานีอวกาศเมียร์เป็นอย่างมาก พวกเขาได้วางแผนขั้นตอนการตกตั้งแต่การปลดระวางสถานีอวกาศให้มียาน Progress M1-5 จอดเทียบท่าอยู่กับสถานีอวกาศอยู่เพื่อเป็นจรวดคอยบังคับและปรับวงโคจรของสถานีอวกาศอย่างต่อเนื่องระหว่างการตกเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตกเข้าสถานีอวกาศเมียร์จะเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศจนหมดและจะไม่ตกสู่แผ่นดินที่มีผู้คนอาศัยอยู่

เพื่อเตรียมการปลดระวางสถานีอวกาศนานาชาติในเร็ววันนี้ NASA ได้เลือกบริษัท SpaceX เป็นผู้ดำเนินการปลดสถานีอวกาศนานาชาติออกจากวงโคจรและควบคุมสถานีอวกาศนานาชาติตกลงสู่ชั้นบรรยากาศของโลก มันจะกลายเป็นวัตถุของมนุษย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่จะตกกลับสู่ชั้นบรรยากาศ บทเรียนที่ได้จากสถานีอวกาศต่าง ๆ ที่เคยตกกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจะนำมาปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับการปลดประจำการของสถานีอวกาศนานาชาติอย่างรัดกุมและดำเนินการให้ปลอดภัย ซึ่งคาดว่าการปลดประจำการของสถานีอวกาศนานาชาติจะเกิดขึ้นในปี 2030 และถือเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยของสถานีอวกาศนานาชาติ

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

SkylabSkylab Space Stationสถานีอวกาศ Skylabสถานีอวกาศนาซาองค์การนาซาNASAอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด