“สถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์” ในจีน หันกระจกไล่ตามแดด-ผลิตไฟฟ้า 24 ชม.


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

24 ก.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“สถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์” ในจีน หันกระจกไล่ตามแดด-ผลิตไฟฟ้า 24 ชม.

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1423

“สถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์” ในจีน หันกระจกไล่ตามแดด-ผลิตไฟฟ้า 24 ชม.
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

สถานีไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ ของบริษัท ไชน่า ธรี กอร์เจส คอร์เปอเรชัน (CTG) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในอำเภอกัวโจว มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ได้เริ่มทดลองเดินเครื่องส่วนโครงการหลักแล้ว และจะเปิดใช้งานภายในสิ้นปีนี้

สถานีไฟฟ้าแห่งนี้ติดตั้งหอคอยดูดซับความร้อนแบบคู่ที่ใช้กังหันผลิตไฟฟ้าร่วมกันหนึ่งเครื่อง และสามารถผลิตไฟฟ้าทั้งในตอนที่มีแสงแดดโดยตรงหรือไม่มีแสงแดด โดยอาศัยเกลือหลอมเหลวและแผ่นกระจกรับแสงจากดวงอาทิตย์ที่ชื่อว่าเฮลิโอสแตต (Heliostat) ซึ่งติดตั้งบนพื้นที่รวมแสง 800,000 ตารางเมตร และสามารถหมุนและหันตามทิศทางของแสงแดดได้

กระจกเฮลิโอสแตตในสถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จะดึงแสงแดดเข้าสู่หอคอยดูดซับความร้อนคู่เพื่อจ่ายไฟให้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบกังหัน ตัวกระจกมีประสิทธิภาพการสะท้อนถึงร้อยละ 94 ทำให้สามารถสะท้อนแสงแดดไปยังหอคอยได้มากขึ้นและช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า

บริเวณฐานของหอคอยคู่มีถังกักเก็บขนาดใหญ่สองถังที่เต็มไปด้วยเกลือหลอมเหลวอุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียส และ 500 องศาเซลเซียส ตามลำดับ โดยเกลือหลอมเหลวในรูปของเหลวสามารถกักเก็บความร้อนได้มากกว่าน้ำหลายเท่า และคอยทำหน้าที่กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ที่รวบรวมโดยหอคอยคู่ระหว่างวันในรูปของความร้อน ทำให้ได้พลังงานที่เสถียรและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

“สถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์” ในจีน ภาพจาก Xinhua

เมื่อเปิดใช้งานแล้ว สถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นแหล่งจ่ายไฟหลักของฐานพลังงานสะอาดที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 700,000 กิโลวัตต์ เมื่อรวมกับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมโดยรอบ โดยการผลิตไฟฟ้าประจำปีจะสูงถึง 1.8 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ราว 1.53 ล้านตัน

จีนเริ่มพัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ขนานใหญ่ นับตั้งแต่มีการเปิดตัวฐานพลังงานใหม่หลายแห่งในพื้นที่ทะเลทรายอันกว้างใหญ่และในพื้นที่ทะเลทรายโกบี

หูเหวินผิง เจ้าหน้าที่ของสถาบันวิศวกรรมและการวางแผนพลังงานไฟฟ้าจีน ระบุว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ผสานการกักเก็บพลังงานและการผลิตไฟฟ้าเข้าด้วยกัน โดยเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพสำหรับพลังงานใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้อย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้

โครงการพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์แห่งหนึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในแคว้นปกครองตนเองไห่ซี กลุ่มชาติพันธุ์มองโกลและทิเบต มณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งกระจกเฮลิโอสแตตไปแล้วมากกว่าร้อยละ 90 และโครงการกำลังจะเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าภายในสิ้นเดือนกันยายนปีนี้

ส่วนโครงการหลักของโครงการกักเก็บพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ขนาด 1.5 ล้านกิโลวัตต์ในเมืองฮามี่ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนได้เริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

อนึ่ง หนังสือปกน้ำเงินว่าด้วยอุตสาหกรรมพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ของจีนประจำปี 2023 ระบุว่ากำลังการผลิตติดตั้งรวมของหน่วยผลิตพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ของจีนในระดับเมกะวัตต์ขึ้นไป สูงถึง 588 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 7.8 ของกำลังการผลิตติดตั้งรวมของการผลิตพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ทั่วโลก


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ภาพซินหัว : สถานีไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ในอำเภอกัวโจว มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 16 ก.ค.  24


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จีนพลังงานแสงอาทิตย์พลังงานสะอาดเทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด