เสวนาเบื้องหลังสารคดี "พระพิราพ" หนทางอนุรักษ์นาฏศิลป์เก่าแก่ไทย


Lifestyle

26 ก.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

เสวนาเบื้องหลังสารคดี "พระพิราพ" หนทางอนุรักษ์นาฏศิลป์เก่าแก่ไทย

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1428

เสวนาเบื้องหลังสารคดี "พระพิราพ" หนทางอนุรักษ์นาฏศิลป์เก่าแก่ไทย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ไทยพีบีเอส เตรียมส่งสารคดีมากคุณค่า “พระพิราพ Master of Khon Thai" ให้แฟน ๆ ได้ชมกัน เรื่องราวของเทพอสูร ผู้เป็นบรมครูสูงสุดแห่งนาฏศิลป์ไทย พร้อมท่ารำที่เรียกขานกันว่า ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ อันเป็นศิลปะชั้นสูง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมายาวนาน

ทว่าปัจจุบัน เรื่องราวความเชื่อ ตลอดจนท่ารำอันทรงคุณค่าเหล่านี้ กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา จึงเป็นที่มาของสารคดี “พระพิราพ Master of Khon Thai” ซึ่งก่อนจะได้รับชมกัน มีการจัดงานเสวนา ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวน่ารู้จากครูโขนทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) ดร.ไพโรจน์ ทองคำสุก ราชบัณฑิต สาขานาฏกรรมไทย สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา และ อาจารย์สุดจิตต์ พันธ์สังข์ ผู้สืบทอดการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ

ไทยพีบีเอส เก็บเรื่องราว ตลอดจนมุมมองอันน่าสนใจจากการเสวนาครั้งนี้ มาบอกเล่ากัน

เปิดงานเสวนา พร้อมลูกศิษย์ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจนาฏศิลป์ไทย

งานเสวนา “พระพิราพ” เริ่มต้นโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเก่าแก่ของไทย อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ดร.ไพโรจน์ ทองคำสุก และ อาจารย์สุดจิตต์ พันธ์สังข์ มาร่วมพูดคุย โดยมีนักเรียนนาฏศิลป์ไทยรุ่นใหม่ พร้อมใจกันมาร่วมรับฟัง 

อาจารย์สุดจิตต์ พันธ์สังข์ อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย และ ดร.ไพโรจน์ ทองคำสุก

เปิดงานด้วยการให้ทุก ๆ คน ได้ชมการแสดงการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยท่ารำอันสง่างาม ยังเป็นการแสดงที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงของการเสวนา โดย อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย เริ่มต้นเล่าถึงท่ารำหน้าพาทย์พระพิราพว่า กว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ไม่ได้เห็นท่ารำนี้อย่างเป็นทางการ 

“ครั้งสุดท้ายที่มีการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ เป็นการรำถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ราวปี 2528 ตอนนั้นมีการบันทึกการถ่ายทอดการรำเอาไว้ด้วย”

 อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย

อ.ประเมษฐ์ เล่าต่อว่า การแสดงรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพในสมัยก่อนนั้น มักได้รับการจัดขึ้นในงานพระราชพิธีสำคัญ ๆ เช่น งานสมโภชน์ในวาระต่าง ๆ ยกตัวอย่างงานฉลองพระนคร ในปี 2475 ก็เคยมีการจัดแสดงรำหน้าพาทย์พระพิราพมาแล้ว

“ต้องเป็นวาระสำคัญของบ้านเมืองเท่านั้น จึงจะได้เห็นการแสดงนี้”

ที่มาสารคดี “พระพิราพ”

เรื่องราวเบื้องหลังของผลิตงานสารคดีชิ้นนี้ อ.สุดจิตต์ พันธ์สังข์ เล่าว่า แรกเริ่มเดิมที โครงการนี้ยังไม่ได้คิดทำเป็นงานสารคดี แต่เนื่องจากตามธรรมเนียมของแวดวงคนนาฏศิลป์ไทย มักจะมีการทำ “สาธยายท่ารำ” หรือเป็นการต่อท่ารำ จากครูส่งต่อสู่ลูกศิษย์ 

ซึ่งปกติจะทำกันทุก ๆ ปี แต่ต่อมาภายหลังว่างเว้นหายไป จนล่วงเลยมานับสิบปี ธรรมเนียมการต่อท่ารำเหล่านี้ ไม่ได้รับการสานต่อมาเป็นเวลานาน

อ.สุดจิตต์ พันธ์สังข์

“แรก ๆ เราตกลงกันว่าจะทำสาธยายท่ารำกันปีละหน รู้สึกจะทำไปได้ 4 ครั้ง จากนั้นก็หายไป จนผ่านมาเป็นสิบปี เกรงว่าหากปล่อยไปนานกว่านี้ นอกจากการถ่ายทอดท่ารำจะหายไป ยังเหมือนเป็นการผิดคำครู ที่อุตส่าห์ถ่ายทอดท่ารำเหล่านี้มาให้พวกเรา แต่ไม่ได้รับการสืบสานต่อ จึงมีความคิดกันว่า จะนำกลับมาสาธยายกันอีกครั้ง”

“ซึ่งประจวบเหมาะกับทางไทยพีบีเอสเสนอว่า อยากทำงานนี้ให้เป็นสารคดี เราจึงตัดสินใจ สร้างสรรค์งานครั้งนี้ร่วมกัน”

ดร.ไพโรจน์ ทองคำสุก

ด้าน ดร.ไพโรจน์ ทองคำสุก ช่วยขยายเจตนารมณ์ของงานสารคดีอีกว่า 

“เราต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจ ว่าเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ที่ใช้ในการไหว้ครูเป็นเพลงสุดท้ายทุกครั้ง มีความเป็นมาอย่างไร และประการที่สำคัญ เราจะทำอย่างไรในการสืบสานต่ออย่างถูกต้อง”

ความพิถีพิถันของสารคดีพระพิราพ  

ในความยาวกว่า 60 นาทีของสารคดีพระพิราพ ผ่านขั้นตอนการทำงานที่มีความละเอียดและพิถีพิถัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ท่ารำองค์พระพิราพ” เป็นศาสตร์ขั้นสูง และมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เลื่องลือ ทำให้ต้องมีหลักการและขั้นตอนการทำงานที่ต้องให้ความใส่ใจอยู่พอสมควร

“เวลาที่รำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ไม่ควรนำไปตัดต่อ” อ.สุดจิตต์ เล่า พร้อมบอกว่า โดยปกติท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพมีความยาวราว ๆ 15 นาที ซึ่งบรรดาศิษย์จะได้รับการกำชับจากครูเสมอว่า ต้องรำให้จบ และหากมีการบันทึกภาพ ไม่ควรนำมาตัดต่อสลับภาพไปมา 

“พระพิราพถือเป็นเทพชั้นสูง เราให้ความเคารพ ผู้รำต้องอยู่ในสมาธิตลอดเวลา การถ่ายทอดท่ารำจึงควรเป็นการบันทึกภาพจนจบ อย่าสลับภาพ”

อ.สุดจิตต์ บอกต่อว่า สาเหตุที่ต้องมีเงื่อนไขอยู่บ้าง เพราะเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์สั่งและถ่ายทอดกันมาแต่อดีต จึงไม่อยาก “ขัดคำครู” แต่ถึงแม้จะมีเงื่อนไข แต่อะไรที่พออนุโลมได้ ก็อนุโลมกันไป

“ที่สุดแล้ว อะไรก็ตามที่ทำด้วยความเคารพ จะเป็นสิ่งที่ดีเสมอ”

การอนุรักษ์ “โขนไทย” ทำอย่างไรไม่ให้สูญหาย

ถัดจากเรื่องราวการผลิตสารคดีพระพิราพ มาถึงเรื่องราวการอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทย โดยเฉพาะเรื่องของ “โขน” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งสามยืนยันว่า โขนไทยไม่สูญหายอย่างแน่นอน 

ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง รวมถึงยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี สืบสานมรดกไทยนี้ร่วมด้วยอีกทาง

“โขนไทยเป็นศาสตร์ที่ล้ำค่า และเป็นหน้าตาของประเทศ ดังนั้น โขนไทยจะไม่สูญหายไปอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม หัวใจของการอนุรักษ์จำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอด จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งประเด็นนี้ อาจารย์ทั้งสามท่านมีมุมมองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่า เพราะศิลปะไทยมีธรรมเนียมมากเกินไป จึงทำให้ไม่ได้รับการสืบสานเท่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ ?

“สำหรับผม มีพวงมาลัยแค่พวงเดียว ผมก็พร้อมสอนแล้ว” อ.สุจิตต์ กล่าวอย่างอารมณ์ดี และเน้นย้ำว่า ครูนาฏศิลป์ไทยส่วนใหญ่พร้อมถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาอยู่เสมอ 

“ผมเน้นย้ำเลยว่า สิ่งที่ผมได้รับจากครู จะไม่ให้มันตายไปจากตัวผมอย่างแน่นอน”

เช่นเดียวกับ อ.ประเมษฐ์ ที่พร้อมยินดีถ่ายทอดความรู้ แต่ในคราวเดียวกัน ศิษย์ที่จะมารับเอาความรู้ ควรมีความพร้อมด้วยเช่นกัน

“บางคนชอบมองที่ความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกัน ของบางอย่างต้องอาศัยเวลา และความอดทน ถ้าคุณมีความพร้อม ครูก็พร้อมสอนให้อย่างเต็มที่” 

ดร.ไพโรจน์ ทิ้งท้ายว่า “สิ่งต่าง ๆ ต้องเกิดจากความรักและความศรัทธา แล้วจะเกิดการศึกษาอย่างตั้งใจแท้จริง”

ศิลปะไทยเป็นมรดกตกทอดมานับร้อยปี และจะยังคงได้รับการสืบสานต่อไป ตราบใดที่ “ศิษย์พร้อม” เมื่อนั้น “ครูจะปรากฏ” รวมทั้งได้รับการส่งเสริมจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ศิลปะไทยไม่สูญหายอย่างแน่นอน 

ติดตามสารคดีชุด “พระพิราพ Master of Khon Thai” หนึ่งในความภาคภูมิใจของศิลปะเก่าแก่ของไทย ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 วันเสาร์ที่ 27 ก.ค. 67 นี้ เวลา 10.00 น. ชมย้อนหลังได้ทาง www.thaipbs.or.th/Viradha หรือทาง VIPA
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

พระพิราพรำพระพิราพท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพงานเสวนาพระพิราพ
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด