“ไม่มีสัตว์ถูกทำร้ายในการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้” เป็นข้อความที่ขึ้นมาบ่อย ๆ ที่เราอาจไม่สนใจนัก กระทั่งเกิดกรณีวางยาสลบแมวดำเพื่อถ่ายทำ
Thai PBS ชวนรู้จัก มาตรฐานการถ่ายทำสัตว์ในหนังฮอลลีวูด ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ? มีมาตรฐานอย่างไรบ้าง ?
เปิดที่มามาตรฐานการใช้สัตว์ในภาพยนตร์
“ดาราสัตว์” ในสื่อบันเทิงนั้นมีมาอย่างยาวนาน นับจากยุคเฟื่องฟูที่สัตว์หลายตัวกลายเป็นสีสันโดดเด่นในเรื่องราว จนถึงยุคปัจจุบันที่ความน่ารักยังคงเป็นจุดขาย มีสัตว์หลายคนกลายเป็นสัญลักษณ์ของหนังเรื่องนั้น ๆ
จาก “เสือเบงกอล” ใน Life of Pi สร้างความน่าสนใจให้เรื่องราวอย่างน่าตื่นตะลึง จนถึง “เจ้าลิงจ๋อ” ที่ปรากฏตัวเรียกเสียงฮาทั้งจาก Dr. Dolittle 2, The Hangover 2 และ Night at the Museum สัตว์เหล่านี้มีบทบาทเข้ามาสร้างสีสันที่น่าจดจำมากมาย แม้แต่ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ของปี 2024 ที่ผ่านมา ก็มีซีนให้เจ้า Messi สุนัขสุดน่ารักจากภาพยนตร์เรื่อง Anatomy of fall ได้เข้าร่วมพิธีพร้อมนั่งปรบมือแสดงความยินดีสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก
ภาพยนตร์ที่มีสัตว์ปรากฏตัวเหล่านี้ล้วนมีข้อความ “ไม่มีสัตว์ถูกทำร้ายในการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้” หรือ “No Animals Were Harmed” อันเป็นมาตรฐานจากองค์กรที่ชื่อว่า American Humane Association (AHA) เพื่อการันตีถึงความปลอดภัยของสัตว์ในการผลิตภาพยนตร์เหล่านี้
จุดเริ่มต้นมาจากภาพยนตร์เรื่อง Jesse james (1939) หนังคาวบอยสุดโด่งดัง ทว่ากลับมีเรื่องอื้อฉาวจากฉากหนึ่งในเรื่องที่มีการขี้ม้าหลบหนีไล่ล่าก่อนจบลงด้วยการควบขี้ม้ากระโดดลงแม่น้ำ ด้วยท่าทางที่ผิดธรรมชาติ อาการตื่นตกใจของม้าตัวนั้น จุดกระแสให้สังคมตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ม้าที่ใช้ในการถ่ายทำจะปลอดภัย แต่ด้วยระดับความสูงและผลที่ตามมารวมถึงภาพที่ปรากฏ ก็ทำให้ต้องมีการแก้ไขบางอย่าง และ American Humane Association (AHA) ก็กลายเป็นองค์กรที่เข้ามาตรวจสอบการถ่ายทำ และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในสัตว์จนถึงปัจจุบัน
มาตรฐานการถ่ายทำกับสัตว์มีอะไรบ้าง ?
มาตรฐานที่มีการตรวจสอบควบคุมนั้นจะมีรายละเอียดกำหนดผ่านเอกสารความยาว 132 หน้าที่ชื่อ “แนวทางเพื่อการถ่ายทำสัตว์อย่างปลอดภัย” หรือ “Guilelines for the Safe Use of Animals in Filmed Media” ซึ่งมีการกำหนดแนวทางโดยทั่วไป และมีรายละเอียดลงไปถึงสัตว์แต่ละประเภท เช่น สุนัข แมวเลี้ยง นก ปลา แมลง ม้า สัตว์สวยงาม รวมถึงสัตว์ป่า
แนวทางการควบคุมจะกำหนดให้ทีมงานที่ผลิตสื่อนั้น ๆ และผู้ฝึกสัตว์ รายละเอียดโดยภาพรวมสรุปได้ดังนี้
1. โปรดักชันต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมสัตว์เท่านั้น โดยผู้เชี่ยวชาญจะต้องมีความรู้ในสัตว์สายพันธุ์นั้น ๆ เพื่อสามารถกำหนดมาตรการความปลอดภัยของสัตว์นั้น ๆ ได้
2. ผู้ฝึกสัตว์หรือผู้เลี้ยงสัตว์ (Animal handlers) ต้องมีใบรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเป็นเจ้าของสัตว์นั้น ใบรับรองการแสดงสัตว์และใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพของสัตว์
3. จำนวนผู้ดูแลเพียงพอต่อสัตว์ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดทั้งกับนักแสดง ทีมงานและสัตว์
4. ถ่ายทำให้ในสถานที่ที่เหมาะสมกับสัตว์นั้น ๆ ไม่ถ่ายทำในพื้นที่ร้อนหรือหนาวจนเกินกว่าที่สัตว์จะทนอยู่ได้ ถ่ายทำตามเวลาชีวิตของสัตว์พันธุ์นั้น ๆ และใช้เวลาถ่ายทำอย่างจำกัด
5. ทีมงานที่เกี่ยวข้องด้านสวัสดิภาพสัตว์ต้องทำงานร่วมกัน ได้แก่ ทีมงานจากองค์กรตรวจสอบ (AHA) ผู้ฝึกสัตว์หรือเจ้าของสัตว์ และทีมงานผู้ผลิตภาพยนตร์
6. สัตว์ต้องได้รับการเดินทางที่ปลอดภัยและมีมนุษยธรรม นอกจากนี้ยังควรได้เวลาพักผ่อนหลังจากเดินทางก่อนเริ่มทำงานแสดงด้วย
7. สัตว์จะต้องได้รับความปลอดภัยตลอดเวลา โดยต้องอยู่ในการดูแลของผู้ฝึกสอนที่มีประสบการณ์ ห้ามให้คนอื่นที่ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องมาดูแลแทน
8. องค์กรควบคุม (AHA) ต้องอยู่เฝ้าดูทุกการถ่ายทำที่มีสัตว์เข้าร่วมเพื่อตรวจสอบยืนยันถึงมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งนี้ หากมีการแจ้งว่า “ช็อตนี้ไม่ได้รับการรับรอง” หรือ “Unauthorized Shot” ผู้ผลิตจำเป็นจะต้องหยุดการถ่ายทำเพื่อแก้ไขปัญหาเสียก่อน การถ่ายทำที่มีความเสี่ยงจะไม่ได้รับการรับรอง และไม่มีข้อความ “No Animals Were Harmed” เพื่อการันตีถึงความปลอดภัยของสัตว์ในการผลิตภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ
ข้อปฏิบัติข้างต้นนี้ยังเป็นเพียงบางข้อของแนวทางทั้งหมด ยังมีรายละเอียดและข้อบังคับอีกมากมายเพื่อความปลอดภัยของสัตว์ ให้ท้ายที่สุด มนุษย์จะได้ชื่นชมและได้รับความบันเทิง ทั้งจากความน่ารัก ความใสซื่อไปจนถึงความแสนรู้ของสัตว์เหล่านั้นอย่างแท้จริง เพื่อมองให้เห็นถึงคุณค่าอีกชีวิตที่ร่วมอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้
อ้างอิง
- humanehollywood.org