ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) อดีตผู้นำองค์การปลดปล่อยแห่งชาติปาเลสไตน์ หรือ PLO ด้วยบุคลิกที่เข้มแข็ง อุทิศตนเพื่ออุดมการณ์ และสัญชาตญาณทางการเมืองที่เฉียบแหลม ทำให้อาราฟัตกลายเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากชาวปาเลสไตน์ รวมถึงนานาชาติ
อาราฟัต เกิดเมื่อ ปี ค.ศ. 1929 ใช้ชีวิตในวัยหนุ่มถือปืนต่อสู้เรียกร้องสิทธิและแผ่นดินให้แก่ชาวปาเลสไตน์ จนได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำของขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์หรือ PLO ภาพของเขาโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก แต่เขาก็มีปัญหาอยู่ในขบวนการของเขาตลอดมา เพราะมีการแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำให้เขามีภาพของผู้นำที่มีลีลาของเผด็จการในหมู่ชาวปาเลสไตน์ด้วยกันเอง
บุคคลภายนอกบางคนเรียกเขาว่าผู้ก่อการร้าย บางคนชื่นชมเรียกเขาว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ เขามีเรื่องลึกลับหลายอย่างที่โลกภายนอกไม่รู้ อย่างเช่นเขาพูดอยู่เสมอว่าเกิดที่เมืองเยรูซาเล็ม และถือว่าเยรูซาเล็มเป็นบ้านเกิด
แต่หลักฐานจากมหาวิทยาลัยที่กรุงไคโร บอกว่าเขาเกิดที่ไคโร ตอนที่เป็นนักศึกษาที่นั่นเขาก็เป็นนักกิจ กรรมของขบวนการปฏิวัติอาหรับ
ค.ศ. 1969 เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ปี 1972 เขาหันมาใช้วิธีทางการทูต โดยเจรจาผ่านสหประชาชาติ นำไปสู่การประกาศความเป็นอธิปไตยของรัฐปาเลสไตน์ใน ปี 1988
ต่อมาในปี 1994 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1996 เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ในปี 2001 อาราฟัต ถูกกองกำลังอิสราเอลกักตัวอยู่ในเมืองรอมัลเลาะห์ ต่อมาเขาป่วยหนัก และเสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลทหาร ในเมืองคลามอร์ท ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2004 โดยตามรายงานอย่างเป็นทางการของคณะแพทย์ระบุว่า สาเหตุเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกซึ่งก็มีหลายฝ่ายไม่เชื่อ
เส้นทางนักสู้
อาราฟัต บรรลุจุดสูงสุดของความเป็นนักการเมืองเมื่อปี ค.ศ. 1993 วันประวัติศาสตร์ที่เขาสัมผัสมือกับ นายกรัฐมนตรียิทซัก ราบินของอิสราเอล ซึ่งเคยถือว่าเป็นศัตรู ที่ทำเนียบขาว โดยมีประธานาธิปดีบิลคลินตัน เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ถือว่าเป็นการประกาศสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล
นายอาราฟัตประกาศตรงนั้นว่า ในที่สุด สองฝ่ายก็ตกลงกันได้ แม้ว่าจะมีเรื่องที่ท้าทาย แม้ว่าจะมีความยากลำบากและความเจ็บปวดในเวลาต่อมา ทั้งนายราบินและนายอาราฟัตต่างก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเพราะพยายามผลักดันสันติภาพในตะวันออกกลาง
มีการจัดตั้งคณะกรรมการปกครองตนเองของชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนและ พื้นที่ซึ่งเรียกกันว่า ฉนวนกาซ่า ทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาเพิ่มเติมในเรื่องรายละเอียดของแผนสันติภาพแต่ก็ตกลงกันไม่ได้ในเรื่องการจัดสรรดินแดน โดยเฉพาะเขตเมืองเยรูซาเล็ม
ทำให้แผนสันติภาพล้มลง ชาวปาเลสไตน์ลุกฮือขึ้นอีกที่เรียกว่า "อินติฟาดาห์" ฝ่ายอิสราเอลก็โต้ตอบด้วยวิธีการรุนแรง สร้างความเสียหายให้แก่ทั้งสองฝ่าย
ต่อมากำลังทหารอิสราเอลปิดล้อมฐานที่มั่นของเขาที่รามาล่าห์ ทำให้เขาขยับตัวไปไหนมาไหนไม่ได้ จนกระทั่งถูกส่งตัวไปรักษาตัวที่กรุงปารีสเพราะป่วยหนัก
แม้ว่าเขาจะต่อสู้จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวปาเลสไตน์แต่เขาก็ไม่สามารถทำให้ความฝันที่จะมีประเทศปาเลสไตน์ของตนเองเป็นความจริงขึ้นมา
อาจถูกสังหารด้วยสารนิวเคลียร์
อาราฟัต เคยเป็นผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์หรือพีแอลโอ ซึ่งต่อสู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิสราเอลมาอย่างยาวนานและจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเหตุนี้ก็ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่าอิสราเอลมีส่วนในการฆาตกรรม แต่อิสราเอลก็ยืนกรานปฏิเสธตลอดมาว่าไม่เกี่ยว ทั้งนี้อิสราเอลยังระบุด้วยว่านายอาราฟัตนั้นชราภาพมากแล้ว คือมีอายุ 75 ปีและก็ยังดำเนินชีวิตอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ
โทรทัศน์อัลจาซีราห์รายงานเป็นแห่งแรกถึงการพบสาร "พอโลเนี่ยม" ซึ่งเป็นสากัมมันตภาพรังสีที่ติดอยู่กับข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของนายอาราฟัต จากนั้นโดยคำร้องขอของนาง"ซูฮา" ภรรยานายอาราฟัต สำนักอัยการฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถานที่ที่นายอาราฟัตเสียชีวิตจึงได้สั่งเปิดการสอบสวนเพื่อคลี่คลายเงื่อนงำและความเคลือบแคลง โดยจากนั้นรัฐบาลปาเลสไตน์ก็อนุญาตให้ขุดศพนายอาราฟัตขึ้นมาพิสูจน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและฝรั่งเศสได้เก็บตัวอย่างจากกระดูกและดินรอบ ๆ ศพของนายอาราฟัตกลับไปตรวจสอบ โดยล่าสุดคณะผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยโลซานได้เปิดเผยผลการพิสูจน์โดยระบุว่า พบสารพอโลเนี่ยมปริมาณมากเกินคาดหมายในศพของนายอาราฟัต
อิสราเอลระบุว่า ผลพิสูจน์ของสวิตเซอร์แลนด์นี้ก็แค่นิยายน้ำเน่า ส่วนนางซูฮาก็ยอมรับว่า นายอาราฟัตมีศัตรูมากและไม่ได้ชี้ไปที่อิสราเอล ทั้งนี้นายอาราฟัตเคยหันไปทำสัญญาสันติภาพชั่วคราวกับอิสราเอลจนเกิดความไม่พอใจอย่างยิ่งภายในขบวนการพีแอลโอ ซึ่งต่อมากลุ่มฟาห์ท่าของนายอาราฟัตได้แตกหักกับกลุ่มฮามาส