เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนไทยได้เดินทางไปรับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเขียนชุดคำสั่งควบคุมหุ่นยนต์บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น
การแข่งขันในครั้งนี้จัดขึ้นโดยองค์การอวกาศญี่ปุ่นหรือ JAXA ภายใต้ชื่องาน Kibo Robot Programming Challenge 2024 ซึ่งเป็นการแข่งขันเขียนชุดคำสั่ง ออกแบบขั้นตอนการทำงานของหุ่นยนต์ Astrobee บนสถานีอวกาศนานาชาติ ชุดคำสั่งของกลุ่มนักเรียนผู้เข้าแข่งขันจากชาติต่าง ๆ จะได้ถูกนำมาแข่งคัดเลือกและนำไปใช้งานกับหุ่นยนต์ Astrobee บนสถานีอวกาศนานาชาติจริง
โจทย์ของการแข่งขันในครั้งนี้คือให้แข่งขันเขียนชุดคำสั่งควบคุมหุ่นยนต์ให้ตามหาสิ่งของบนสถานีอวกาศโดยอัตโนมัติ ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ นักเรียนจากทั่วทุกมุมโลกจะต้องใช้ทักษะการออกแบบชุดคำสั่งด้านหุ่นยนต์และการประมวลผลภาพด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อประกอบชุดคำสั่งให้กับหุ่นยนต์
การแข่งขันในครั้งนี้กลุ่มเยาวชนไทยสี่คนที่ได้เข้าแข่งขันจนไปถึงรอบชิงชนะเลิศและเป็นตัวแทนของประเทศไทย มีชื่อกลุ่มว่า Astronut ประกอบด้วย นายธรรญธร ไชยกายุต จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นายสิรวิชญ์ แพร่วิศวกิจ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่วนตัวแทนอีกสองคน เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ นายชิษณุพงศ์ ประทีปพงศ์ จากคณะกายภาพบำบัด และนายชยพล เดชศร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งตัวแทนทั้งสี่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 1
ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของ ทาง JAXA ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันแต่ละกลุ่มรับชมการถ่ายทอดสดการทำงานของหุ่นยนต์ Astrobee ซึ่งปฏิบัติงานตามโปรแกรมที่แต่ละกลุ่มผู้เข้าแข่งขันได้พัฒนาขึ้น โดยการถ่ายทอดสดนี้ดำเนินการจากโมดูล Kibo บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ภายใต้การควบคุมของนักบินอวกาศ Jenet Epps จาก NASA เพื่อให้กลุ่มผู้เข้าแข่งขันต่าง ๆ ได้เห็นการทำงานของหุ่นยนต์ของตนเองโดยเฉพาะ โดยไม่มีการเปิดเผยคะแนนหรือผลการแข่งขันของกลุ่มอื่นในช่วงเวลานั้น
JAXA จัดการประกาศผลการแข่งขันอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ผ่านการถ่ายทอดสด ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มได้รับชมผลการแข่งขันอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยได้เชิญชวนผู้เข้าแข่งขันจากประเทศต่าง ๆ ที่สนใจมาร่วมงานประกาศผล ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น
ผลการแข่งขันปรากฏว่า กลุ่ม Astronut จากประเทศไทย คว้าชัยชนะอันดับหนึ่งในการสร้างสรรค์โปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ด้วยคะแนนสูงสุด 253.09 คะแนนจากคะแนนเต็ม 300 คะแนน โดยทำคะแนนนำหน้ากลุ่มรองชนะเลิศจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้คะแนน 250.88 คะแนน
สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนในการแข่งขันพิจารณาจากความแม่นยำของข้อมูลที่หุ่นยนต์อ่านได้ ประสิทธิภาพการทำงาน ระยะเวลา และความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech