ล่วงเข้าศักราชใหม่ พ.ศ.2568 หนึ่งในกิจกรรมของผู้คนคือ การทำบุญ สำหรับพุทธศาสนิกชน นอกจากการใส่บาตร ยังมีการทำสังฆทาน อันเป็นที่นิยม Thai PBS ขอนำเรื่องราวน่ารู้ การถวายสังฆทาน เพื่อต้อนรับปีใหม่ 2568 ให้สุข สงบ และอิ่มเอมใจ
ความหมายของคำว่า “สังฆทาน”
สังฆทาน เป็นคำสองคำมารวมกัน นั่นคือ สังฆะ แปลว่า พระภิกษุ ตั้งแต่ 2 รูปขึ้นไป และคำว่า ทาน ที่หมายถึง การให้ หรือการแบ่งปัน
เมื่อนำมารวมกัน สังฆทาน จึงมีความหมายว่า การถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่พระสงฆ์ หรือหมู่พระสงฆ์ โดยมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ ต้องเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่ “เป็นประโยชน์” และ “ต้องไม่เจาะจงที่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง” ทั้งนี้เพื่อให้สิ่งของที่ถวาย ได้เป็นประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยรวมนั่นเอง
เรื่องเล่าที่มาของ “สังฆทาน”
การถวายสังฆทาน มีเรื่องเล่าขานมายาวนาน เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล พระนางมหาปชาบดี ซึ่งเป็นพระมาตุจฉาของพระพุทธเจ้า (น้า) ต้องการถวายผ้าไตรจีวรให้แก่พระพุทธเจ้า ขณะประทับที่วัดนิโครธาราม
แต่เมื่อนำไปถวายแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้พระนางมหาปชาบดี นำผ้าไตรจีวรถวายเป็นส่วนกลางแก่พระสงฆ์ เพราะเป็นสังฆทานที่ได้อานิสงส์มากกว่าการถวายให้แก่พระองค์เป็นการเฉพาะ เมื่อเวลาผ่านไป พุทธศาสนิกชนจึงยกให้ การถวายสังฆทานเป็นมหาทาน ที่ทำให้ได้อานิสงส์ผลบุญมาก
ถวาย “สังฆทาน” อย่างไรให้ถูกวิธี
สังฆทาน ในทานพระพุทธศาสนาเรียกว่า ไทยทาน หรือ ไทยธรรม แปลว่า ปัจจัยสี่ที่ไม่ขัดต่อสมณะภาพภาวะ โดยมีหลักพิจารณาก่อนนำมาถวาย 5 ข้อ คือ
- ของที่นำมาถวายสังฆทานนี้สมควรหรือไม่
- ของที่นำมาถวายสังฆทานนี้ ขัดต่อพระวินัยของพระสงฆ์หรือไม่
- ของที่นำมาถวายสังฆทานนี้ พระสงฆ์จำเป็นต้องใช้หรือไม่
- ของที่นำมาถวายสังฆทานนี้ มีคุณภาพที่ดีหรือไม่
- ของที่นำมาถวายสังฆทานนี้ ได้ประโยชน์หรือเอื้อต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์หรือไม่
ลักษณะสิ่งของที่ซื้อถวายเพื่อเป็น “สังฆทาน”
ลักษณะสิ่งของถวายสังฆทาน สามารถเลือกจัดถวายเองได้ ไม่มีการกำหนดตายตัวว่าควรใช้สิ่งของใดบ้าง แต่ควรเป็นสิ่งของที่ “จำเป็น” และ “เป็นประโยชน์” ต่อภิกษุสงฆ์ และไม่จำเป็นต้องรวมใส่ในถังสีเหลือง หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีสีเหลืองเสมอไป
ลักษณะสิ่งของถวายสังฆทานเพื่อให้พระสงฆ์ได้นำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่
- อาหารแห้ง
- ยารักษาโรค
- ผ้าไตรจีวร
- น้ำหรือเครื่องดื่ม
- ร่ม
- มีดโกน
- หลอดไฟ ธูป เทียน
- อุปกรณ์ทำความสะอาดร่างกาย เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน แปรงสีฟัน
คำถวายสังฆทาน และคำแปลบทถวายสังฆทาน
บทบูชาพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวังตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมังนะมะสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ (กราบ)
คำกล่าวอาราธนาศีล
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
คำถวายสังฆทาน
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุ สังโฆอิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปลบทถวายสังฆทาน
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์สุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ สาธุ
ถวาย “สังฆทาน” ได้มากกว่า “บุญ”
แม้จะเป็นความเชื่อสืบต่อกันมายาวนาน เรื่องการถวายสังฆทาน ที่ทำให้ผลบุญมาก แต่กุศโลบายที่แม้จริงของการถวายสังฆทาน เพื่อฝึกเตือนใจให้นึกถึงผู้อื่น และนึกถึงส่วนรวมเป็นใหญ่
นอกจากนี้ ในด้านวัฒนธรรมประเพณี ยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีอันดีงาม โดยเฉพาะประเพณีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางศาสนา การถวายสังฆทานยังถือเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้ได้สืบต่อไป
ปีใหม่ 2568 มากกว่าการทำบุญ หรือถวายสังฆทาน คือการมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักแบ่งปัน และมีจิตอันเป็นกุศล เพื่อให้เกิดความสุขกาย สุขใจตลอดไป…