ทีมนักวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์แบบอ่อน (soft robotics) ที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของหนวดปลาหมึก ทำให้สามารถบิดงอและเปลี่ยนรูปได้อย่างยืดหยุ่น ช่วยหยิบจับวัตถุได้แม้อยู่ในพื้นที่แคบ
หุ่นยนต์นี้ออกแบบมาเพื่อเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระและหยิบจับวัตถุในพื้นที่แคบได้อย่างแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างที่ไม่มีโครงกระดูก หรือหุ่นยนต์เกลียวที่ใช้ส่วนต่อขยายคล้ายหนวดปลาหมึก ช่วยให้เคลื่อนไหวได้ซับซ้อนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย หยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย โดยแขนเกลียวแต่ละส่วนทำงานด้วยการใช้สายเคเบิลยืดหยุ่นที่สามารถม้วนเข้าหรือคลายออกได้ ซึ่งจะไม่ซับซ้อนเหมือนการสร้างหุ่นยนต์มือมนุษย์

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน ได้พัฒนาแขนกลเลียนแบบปลาหมึกยักษ์ที่สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วและมีความอ่อนนุ่ม ช่วยให้ทำงานในพื้นที่แคบหรือสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แขนกลนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยมนุษย์ในการทำงานอันตราย เช่น การกู้ภัยหรือการผ่าตัด รวมถึงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำสูง นวัตกรรมนี้ไม่เพียงเพิ่มความปลอดภัยแต่ยังช่วยทุ่นแรงและเวลา ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของเทคโนโลยีการพัฒนาหุ่นยนต์ ที่มีประโยชน์ต่อทั้งภาคการแพทย์และอุตสาหกรรมในอนาคต
กลไกการสร้างหุ่นยนต์หนวดปลาหมึกนั้นค่อนข้างเรียบง่าย โดยใช้เพียงสายเคเบิล 2-3 เส้น ในการทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เสมือนจริงและการจับที่แข็งแรงมั่นคง อีกทั้งยังผลิตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนและผลิตได้อย่างรวดเร็ว ทีมนักวิจัยยังได้สร้างต้นแบบหุ่นยนต์ไว้หลากหลาย ตั้งแต่หุ่นยนต์จับยึดขนาดเล็กไปจนถึงหุ่นยนต์ที่มีความยาว 1 เมตร ที่ติดตั้งอยู่บนโดรน และยังปรับการจับให้เข้ากับวัตถุต่าง ๆ ตามการใช้งาน เช่น การหยิบจับของที่มีขนาดใหญ่ หรือยกของที่มีน้ำหนักมากถึง 260 เท่าของน้ำหนักตัว

แขนกลหนวดปลาหมึกยักษ์เป็นหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และสามารถต่อยอดประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใช้ในงานด้านกู้ภัย การแพทย์ และการสำรวจใต้น้ำในอนาคต
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: howtogeek, 80.lv, cell
ที่มาภาพ: cell, ภาพ 1, ภาพ 2
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech