บริษัท UNCHI ได้ทดลองส่งวัตถุดิบประกอบราเมงขึ้นไปสัมผัสกับนอกอวกาศเป็นระยะเวลา 10 เดือน และตอนนี้เดินทางกลับมาถึงโลกเพื่อทำการวิจัยต่อแล้ว เพื่อสานต่อความฝันเปิดร้านราเมงร้านแรกบนดวงจันทร์และดาวอังคาร
บริษัท UNCHI เจ้าของร้านราเมงชื่อดังหลายแห่งในโอซากา ได้ร่วมมือกับ SpaceBD สตาร์ตอัปด้านอวกาศของญี่ปุ่น ทดลองส่งวัตถุดิบราเมงไปสัมผัสสภาพแวดล้อมนอกโลกบนสถานีอวกาศนานาชาติ การทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Space Delivery Project - RETURN to EARTH เฟสที่สามซึ่งดำเนินการโดย SpaceBD ร่วมกับ JAXA
วัตถุดิบที่ถูกส่งไปประกอบด้วยเส้นราเมง ต้นหอม เม็มมะ (หน่อไม้หมัก) หมูชาชู ส่วนผสมน้ำซุป และดินสำหรับปั้นชามราเมง โดยบรรจุร่วมกับสัมภาระจากบริษัทและสถาบันวิจัยอื่น ๆ ของญี่ปุ่น และออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศด้วยยาน Dragon ของ SpaceX ในภารกิจ CRS-29 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 ก่อนจะถูกนำออกไปสัมผัสกับสภาพนอกอวกาศผ่านโมดูล Kibo ของ JAXA บนสถานีอวกาศนานาชาติ
เดิมทีโครงการนี้กำหนดให้วัตถุดิบอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงและรับรังสีอวกาศเป็นเวลา 6 เดือน แต่เนื่องจากปัจจัยบางประการ ทำให้การทดลองขยายเวลาเป็น 10 เดือน ก่อนที่ตัวอย่างจะถูกเก็บกลับเข้าสู่โมดูลปรับความดันของสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนกันยายน 2024 และเดินทางกลับโลกด้วยยาน Dragon ในภารกิจ CRS-31 เมื่อเดือนธันวาคม 2024 ทำให้นับว่าการทดลองในครั้งนี้สัมภาระได้สัมผัสกับสภาวะในอวกาศยาวนานที่สุดตั้งแต่โครงการนี้ก่อตั้งมา
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในอวกาศ วัตถุดิบราเมงสัมผัสกับสภาวะสุญญากาศ รังสีคอสมิก และรังสียูวีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอาหาร หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ชัดเจน คือสภาพของเนื้ออาหารที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายก่อนและหลังการทดลอง
การศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมอวกาศต่ออาหารได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากแผนการตั้งถิ่นฐานถาวรบนดวงจันทร์จะทำให้มนุษย์ต้องใช้ชีวิตในอวกาศเป็นระยะเวลานาน อาหารที่อยู่ภายใต้รังสีอวกาศอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้คือสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจได้ดีนัก ดังนั้น การทดลองนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอาหารสดและวัตถุดิบภายนอกอวกาศ
หลังจากยาน Dragon เดินทางกลับถึงโลกเมื่อเดือนมกราคม 2025 NASA และ JAXA จะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบที่ส่งไปทดลองเป็นลำดับต่อไป ผลลัพธ์จากโครงการนี้จะช่วยให้ความฝันของเจ้าของบริษัท UNCHI ในการเปิดร้านราเมงแห่งแรกบนดวงจันทร์เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : prtimes
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech