วิถีชีวิตที่รีบเร่ง งานยุ่งจนไม่มีเวลา นำมาสู่การ “ดื่มน้ำ” น้อยจนเกินไป หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อนำไปชดเชย “น้ำ” ที่สูญเสียไปในแต่ละวัน จนทำให้ร่างกายเกิด “ภาวะขาดน้ำ” ด้วยความห่วงใย Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำ 8 โรคอันตรายที่เกิดจากการ “ดื่มน้ำน้อย” มาให้ได้ทราบกัน เพื่อให้ทุกคนรีบหันมาใส่ใจสุขภาพ ดื่มน้ำมากขึ้น ดูแลตัวเองก่อนโรคภัยจะมาเยี่ยมเยือน
“อาการ” บ่งบอกว่าร่างกายขาดน้ำ
- ง่วงซึม อ่อนเพลีย
- ผิวแห้ง ตาแห้ง ปากแห้ง
- ท้องผูก
- ปวดศีรษะ
- ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
- ชีพจรเต้นเร็ว หายใจถี่ หอบถี่

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะขาดน้ำ
- ท้องเสียรุนแรง
- อาเจียนต่อเนื่อง
- นักกีฬาที่มีเสียเหงื่อมาก หรือ ออกกำลังกายเป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยที่เป็น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ที่มีการปัสสาวะมากผิดปกติ
8 โรคร้ายมาเยือน เมื่อดื่มน้ำน้อยเกินไป
1. สมองเสื่อม
การ “ดื่มน้ำน้อย” อาจส่งผลเสียจนเสี่ยงต่อการเป็น “โรคสมองเสื่อม” ได้ เพราะเมื่อร่างกายของเราขาดน้ำ ปริมาณของน้ำในร่างกายไม่เพียงพอในการเป็นส่วนหนึ่งของเลือดที่สูบฉีดไปทั่วร่างกาย เลือดมีความข้นหนืดมากขึ้นทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุของอาการ “สมองเสื่อม” ได้นั่นเอง เพราะฉะนั้นหากคุณรู้สึกไม่สดชื่น เนือย ๆ คิดอะไรช้า ไม่กระฉับกระเฉง นั่นอาจเป็นผลมาจากการดื่มน้ำน้อยเกินไปได้
2. ริดสีดวงทวาร
การ “ดื่มน้ำ” ไม่เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ อาจส่งผลให้ “ระบบย่อยอาหาร” ทำงานได้ยากลำบากมากขึ้น และอาจทำให้คุณไม่สามารถขับ “อุจจาระ” ออกมาได้ เพราะอุจจาระอาจแห้งเกินไป เมื่อของเสียสะสมอยู่ในลำไส้ จะทำให้ลำไส้ดูดซึมของเสียนั้นกลับเข้าร่างกายไปอีก ยิ่งทำให้เลือดมีของเสียและข้นหนืดกว่าเดิม อุจจาระก็แข็งแห้งกว่าเดิม จนเกิดเป็นอาการท้องผูก เมื่อคุณมีอาการแบบนี้บ่อย ๆ อาจทำให้ป่วยเป็นโรคริดสีดวงทวารได้
3. ปวดข้อ - กระดูกอ่อนหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย
ซึ่งอาจรวมไปถึงหมอนรองกระดูกด้วย เนื่องจากร่างกายมีส่วนประกอบเป็นน้ำมากถึง 80% ดังนั้นหากข้อต่อหรือหมอนรองกระดูกแห้ง ไม่ชุ่มชื้นเพียงพอ อาจทำให้ข้อต่อต่าง ๆ ดูดซับแรงกระแทกได้ไม่ดีพอ จนเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย หรืออาจอักเสบได้ง่ายเมื่อต้องออกแรงเดิน ยก เหวี่ยง รวมไปถึงการออกกำลังกาย
4. ทางเดินปัสสาวะอักเสบ-กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
หากมีอาการปวดปัสสาวะ แต่ไม่มีปัสสาวะไหลออกมา หรือไหลออกเพียงหยดสองหยด เราอาจกำลังเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อันเนื่องมาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ การติดเชื้อ และการกลั้นปัสสาวะนาน ๆ
5. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
ปัญหาสุขภาพของคุณผู้หญิงที่ต้องเจอหากดื่มน้ำน้อย หากพบว่าตัวเองมีประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ ขาด ๆ หาย ๆ มีน้ำเกินไป มีสีเข้มเกินไป มาเป็นลิ่มเลือด หรือแม้กระทั่งปวดท้องประจำเดือนมาก หนึ่งในสาเหตุอาจมาจากการดื่มน้ำน้อยเกินไปได้
6. ท้องผูก
โดยสาเหตุหลัก ๆ ก็คือ การขาดตัวกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ กินอาหารที่ขาดใยอาหาร หรือดื่มน้ำน้อย อุจจาระจึงแข็งและลำอุจจาระเล็ก ลำไส้จึงบีบตัวลดลงอุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้า การรักษาที่สำคัญ คือ การกินอาหารมีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ และดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียง หากปล่อยให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรังอาจก่ออาการลำไส้อุดตัน เกิดมะเร็งลำไส้ ได้ในที่สุด
7. อ้วน
การดื่มน้ำน้อยอาจนำไปสู่ “โรคอ้วน” ได้ เพราะการดื่มน้ำอย่างเพียงพอในตอนเช้า ระหว่างมื้อกลางวัน และตอนเย็น หรืออาจดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนรับประทานอาหารช่วยให้อิ่มง่ายอิ่มเร็วกว่าการรับประทานอาหารโดยไม่ดื่มน้ำเลย
8. นิ่วในไต
หากร่างกายได้รับ “น้ำ” ไม่เพียงพอ จะทำให้ “ไต” ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไตต้องทำหน้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกำจัดสารพิษ ดูดสารอาหารที่มีประโยชน์กลับคืนเข้าสู่ร่างกาย ควบคุมระดับความเป็นกรด - ด่างของของเหลวในร่างกาย กำจัดของเสียส่วนเกินแล้วขับออกทางปัสสาวะ สร้างฮอร์โมนที่เป็นตัวกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงและวิตามินดี เป็นต้น เมื่อได้รับน้ำไม่เพียงพอ ไตก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ดังที่กล่าวได้ดี จึงเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะ “นิ่วในไต” และย่อมส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะ “ตับ” ที่ต้องมารับทำหน้าที่แทน
“ดื่มน้ำ” ชนิดอื่นทดแทน “น้ำ” ในร่างกายได้ไหม ?
เครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ เหล้า เบียร์ จะทำให้เกิดการขับน้ำออกจากร่างกายมากยิ่งขึ้น เพราะกาเฟอีนจะกระตุ้นการขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น และน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้ ในผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจะมีปัญหาการขับปัสสาวะมากกว่าปกติได้
ผู้ป่วยด้วยภาวะต่าง ๆ เช่น ข้อเข่าเสื่อม กลั้นปัสสาวะไม่ได้ สมองเสื่อม มีความลำบากในการลุกเข้าห้องน้ำทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรดื่มน้ำตามปกติ โดยอาจจัดเวลาดื่มน้ำเน้นในช่วงเวลากลางวัน และจัดสถานที่ปัสสาวะให้สะดวกมากขึ้น
เราควร “ดื่มน้ำ” แค่ไหน ? จึงจะเหมาะสม
หากใครอยากรู้ว่าตัวเองควรดื่มน้ำวันละกี่ลิตรต่อวัน ทางการแพทย์มีสูตรคำนวณอย่างง่าย เพียงใช้น้ำหนักตัวของเราซึ่งเป็นกิโลกรัมเป็นตัวตั้ง จากนั้นให้คูณด้วย 2.2 นำผลลัพธ์มาหารด้วย 2 และคูณด้วย 30 เท่านี้ก็ได้ปริมาณน้ำที่เราควรดื่มหน่วยเป็นมิลลิลิตร
ตัวอย่าง
หากมีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม (60 x 2.2 X 30) /2 = 1,980 มิลลิลิตร หรือประมาณ 2 ลิตร ปริมาณน้ำ 1 ลิตรเท่ากับน้ำ 5 แก้ว ดังนั้นต้องดื่มน้ำประมาณ 10 แก้วต่อวัน สำหรับใครที่น้ำหนักมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็ลองคำนวณกันดู จะได้รู้ว่าร่างกายของเราต้องการน้ำต่อวันเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำนั่นเอง
ปริมาณน้ำที่ควรดื่มอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน และขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน สภาพอากาศ หรือปัจจัยอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
แม้ว่า “น้ำเปล่า” จะมีข้อดีมากมายมหาศาล แต่กลับพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบ “ดื่มน้ำเปล่า” เพราะไม่ชอบรสชาติที่จืดชืด แล้วหันไปดื่มน้ำชนิดอื่นที่มีรสชาติหวานอร่อยแทน เช่น น้ำอัดลม ชานมไข่มุก ชา กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำหวาน และอื่น ๆ แต่เพื่อสุขภาพที่ดีควร “ดื่มน้ำเปล่า” ให้เป็นนิสัย จะเป็นหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ร่างกายของเราดีขึ้น โรคภัยไม่ย่างกรายถามหา
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กรมการเเพทย์, โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน, โรงพยาบาลวิภาวดี, สำนักงานแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย, โรงพยาบาลรามคำแหง, ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, นางสาวณิชพัณณ์ ฐิระโกมลพงศ์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech