ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ : "ทันตแพทย์-นักวิชาการ" ยันชัด "หนอนกินฟัน" ไม่มีจริง !


Verify

21 ก.พ. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ : "ทันตแพทย์-นักวิชาการ" ยันชัด "หนอนกินฟัน" ไม่มีจริง !

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2349

ตรวจสอบพบ : "ทันตแพทย์-นักวิชาการ" ยันชัด "หนอนกินฟัน" ไม่มีจริง !
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบคลิปอ้างรักษาอาการปวดฟันด้วยการหาหมอพื้นบ้าน แต่กลับเจอหนอนออกมาจากกระพุ้งแก้ม ด้าน ทันตแพทย์-นักวิชาการ เตือนอย่าหลงเชื่อ ยืนยันหนอนกินฟันไม่มีจริง ที่ผ่านมามีแต่หนอนแมลงวันในปากเท่านั้น

แหล่งที่มา : REEL

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพจากคลิป REEL ที่แสดงภาพหนอนไชออกมาจากใบหน้า

กระบวนการตรวจสอบ

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "บอย จักรพงษ์" โพสต์คลิปพร้อมข้อความ “ไปหาหมอหลวง แล้วหมอไม่ถอน ก็ต้องหาหมอบ้าน สรุปตามคลิปเลย” โดยคลิปดังกล่าวเป็นภาพ ผู้หญิงคนหนึ่งที่ไปหาหมอชาวบ้านเพื่อรักษาอาการปวดฟัน โดยจะเห็นภาพของหมอชาวบ้านนำสำลีมาถูที่แก้ม ก่อนที่ต่อมาจะมีหนอนชอนไชออกมาจากแก้มบริเวณที่ปวดฟัน โดยในภาพยังมีข้อความระบุว่า "ที่คนแก่ ๆ เขาว่า หนอนกินฟัน วันนี้มาเห็นกับตาแล้ว"

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพหนอนหลุดออกมาจากบริเวณใบหน้าซึ่งเจ้าของเฟซบุ๊กเชื่อว่าเป็น "หนอนกินฟัน"

ในใต้โพสต์ยังมีข้อความระบุว่า "มาบอกบุญครับ จากที่ผมลงคลิปไปมีคนขอพิกัด บ้านหมอกันมามาก ใครที่เจ็บฟันจะรู้ดีมันทรมานแค่ไหน ให้ตั้ง GPS โรงเรียน… บ้านหมออยู่เลยไปประมาณ 1 กม. แล้วถามคนแถวนั้น บ้านลุง... ที่เขี่ยหนอนฟัน อยู่หลังไหน บ้านหมอ... ตั้งอยู่ใน ต.ปริก อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช"

นักวิชาการเตือนอย่าหลงเชื่อ

หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกพูดถึง เพจเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อ.เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น (ลิงก์บันทึกที่ นี่ และ นี่)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความคิดเห็นของเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ออกมาเตือนอย่าหลงเชื่อ

โดยระบุว่า (รีโพสต์) "อย่าหลงเชื่อ การรักษาแมงกินฟัน แบบนี้ครับ"

มีคนส่งคลิปวิดีโอนี้มาถามกันหลายคนเลย อ้างว่าเป็น "การรักษาแมงกินฟัน แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน" โดยในคลิปนั้น คนที่ปวดฟันไปเข้ารับการรักษาในบ้านหลังหนึ่ง คนรักษาก็ดูเป็นชาวบ้านธรรมดา เอาสำลีไปผสมน้ำสมุนไพร แล้วเอามาแปะข้างแก้มตรงกับฟันที่ปวด ประมาณ 5 นาที ก็มี "แมงกินฟัน" ตัวเหมือนหนอนจิ๋ว ๆ กระดืบ ๆ ออกมาจากบริเวณนั้น !?
ซึ่งนี่ก็ออกแนวมายากล หลอกให้คนเข้าใจผิด นั่นแหละครับ ด้วยการซ่อนหนอนไว้ที่ผ้าสำลีที่เอามาแปะ ไม่ใช่ว่าจะมีหนอน "แมงกินฟัน" ออกจากฟันที่ปวด ทะลุแก้ม ออกมาคลานกระดืบให้ดู

จริง ๆ แล้ว การที่ฟันของเรามีอาการปวด อันเนื่องจากฟันผุนั้น ไม่ใช่ว่าในปากของเรา มี "แมงกินฟัน" มีสัตว์อย่างหนอน หรือแมลงอยู่ แล้วคอยกัดกินฟันเรา... แต่เป็นเพราะเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรีย ที่ใช้น้ำตาลจากเศษอาหารในซอกฟัน มาสร้างกรดที่ย่อยเคลือบฟันของเรา จนฟันผุเป็นรูต่างหาก เมื่อก่อนก็เคยโพสต์เตือนเกี่ยวกับเรื่องรักษาแมงกินฟันทำนองนี้มาแล้ว โดยตอนนั้นจะเป็นการใช้ "กะลาครอบ แล้วรมควัน" เอาแมงกินฟันออกมา ซึ่งมายากลที่เขาใช้นั้น จะหลอกให้เราอมปลายท่อของอุปกรณ์ที่ครอบ คล้ายทำจากไม้กะลา แล้วพ่นควันไฟเข้าไปให้เราอมควันไว้ จากนั้นก็มีหนอน "แมงกินฟัน" ออกมาในกะลานั้น... ซึ่งทริกจริง ๆ แล้ว ก็คือว่า หนอนพวกนี้ มันชอนไชอยู่ในไม้ที่ใช้ทำที่ครอบ เมื่อมันโดนควันไฟ มันก็เลยหนีออกมาให้เราเห็น.. ไม่ใช่มีแมงกินฟันแต่อย่างไร

การรักษาแมงกินฟันทำนองนี้ ถ้าทำฟรี ก็คงมีแค่โดนหลอกให้หลงเชื่อ และเสียโอกาสในการรักษาทางทันตกรรม.. แต่ถ้ามีการเก็บเงินค่ารักษาด้วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นการหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนได้นะครับ ! แถมมีความผิด ในเรื่องของการแอบอ้างตนเองเป็นหมอรักษาคนด้วย

เจ้าของโพสต์ระบุเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

ขณะที่เจ้าของโพสต์ได้เข้ามาตอบกลับข้อความของเพจเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ว่า "ขอตอบกลับ อาจารย์หน่อยนะครับ ผมเป็นเจ้าของโพสต์ และเป็นคนถ่ายวิดีโอ และคนที่ไปรักษาคือแฟนผมเอง ผมขอถามอาจารย์ว่า ขนาดที่ปวดฟันแบบรุนแรงเจ็บขึ้นสมอง และคนไข้เป็นโรคความดัน อาจารย์คิดว่าหมอที่โรงพยาบาลจะถอนให้มั้ยครับ ผมตอบให้เลยครับว่าไม่ 30 บาท รักษาทุกโรค ได้มาก็แค่ยาพาราแรง ๆ ณ เวลานั้น คนที่ปวดฟัน เจ็บไม่ได้นอนมาทั้งคืน ไม่มีตัวเลือกหรอกครับ เพราะถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลมาแล้ว ใครบอกอะไรเชื่อหมดละครับ ที่ทําให้หายปวดได้ ผลสรุปคือ หายปวดจริงครับ อาจจะบังเอิญ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันหายจริง ๆ (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงข้อความตอบกลับจากเจ้าของโพสต์คลิป

ผมทราบดีครับว่า ไสยศาสตร์ มันหาเหตุผลหรือสมมุติฐานมาประกอบความเชื่อแบบนี้ไม่ได้ ยังไงไสยศาสตร์ก็เป็นแค่มายากลหลอกเด็ก เหมือนอาจารย์ว่า ผมรู้ ว่าอาจารย์ไม่เชื่อ เพราะอาจารย์ถูกสอนมาแบบวิทยาศาสตร์ ก็ไม่แปลกหรอกครับ แต่ผมเป็นชาวบ้าน ยังไงก็ไม่ทิ้งไสยศาสตร์ อาจจะมีเปอร์เซ็นต์ที่เชื่อไม่เยอะ แต่อะไรทำแล้วดี ทำแล้วหาย ผมก็ยินดีที่จะเชื่อ แต่แปลกนะครับ คนที่บอกไม่เชื่อเรื่องแบบนี้ แต่กลับทำพิธีทางศาสนา ฮวงจุ้ย ให้พระมาสวดในงานพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่เรื่องแบบนี้ ถ้าพูดไปแล้วก็หาเหตุผลหรือสมมุติฐานมาอธิบายไม่ได้ ว่าทำแบบนี้ไปทําไม โอเคละครับ สุดท้ายนี้ฝากไปถึงอาจารย์ ถ้าจะให้ความรู้ก็พอประมาณนะครับ อย่าลบหลู่ว่าเป็นมายากล ชาวพุทธยังไงเสียก็หนี้เรื่องพวกนี้ไม่พ้นหรอกครับ

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

คลิปดังกล่าว ถือว่ามีผู้รับชมเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้รับชมถึง 3.1 ล้านครั้ง รวมถึงกดถูกใจกว่า 41,000 คน ซึ่งหลังจากที่มีการโพสต์เนื้อหาดังกล่าว เราพบว่ามีผู้หลงเชื่อเข้ามาสอบถามถึงสถานที่รักษาเป็นจำนวนมาก เช่น

"แล้วคนที่อยู่ไกลอยากได้ยามาทาเองมีส่งไหมครับ ผมก็ปวดทรมานมาก สระแก้วครับ อยากได้จริง ๆ"

“ใช่เอาแต่คนที่เชื่อเขาช่วยคนไม่ได้เรียกค่าตอบแทนไร”

“เขามีตัวยาจำหน่ายหรือเปล่าคะ”

"เชื่อค่ะเเต่หมอปัจจุบันเค้าบอกว่าเเบคทีเรียช่องปากมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า เคยมียาผีบอกมาขายยาแถวบ้าน เค้าเอาสำลีมาอุดตรงที่ฟันผุ 5-10 นาที หนอนเต็มสำลีเลยค่ะ หายปวดจริงแต่บอกใครไม่มีใครเชื่อ โชคดีจังที่ได้มาเจออีก"

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความคิดเห็นของผู้ที่เข้าชมคลิป

แพทย์ระบุหนอนในปากไม่ใช่แบบในคลิป

เรานำเรื่องนี้ไปสอบถามกับ อ.ทพ.ชนกันต์ แผ้วพาลชน อาจารย์ประจำสาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งระบุว่า จากที่ดูคลิปและพบว่ามีหนอนออกมาจากกระพุ้งแก้มนั้น จริง ๆ แล้วหนอนที่อยู่บริเวณช่องปากหรือแก้มจะไม่ออกมาในลักษณะนี้ เชื่อว่าหนอนที่ออกมา น่าจะมาจากการที่ชายที่นำสำลีไปเช็ดถูบริเวณแก้ม ซึ่งในส่วนของสำลีอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนอนมาติดบริเวณแก้ม (ลิงก์บันทึก)

อ.ทพ.ชนกันต์ แผ้วพาลชน อาจารย์ประจำสาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับกรณีของหนอนที่อยู่ในฟันได้นั้น แม้โดยปกติแล้วจะมีเคสของหนอนในช่องปาก แต่ก็ถือเป็นเรื่องยากมาก ๆ เพราะกรณีฟันผุที่พบส่วนใหญ่ มักจะเป็นลักษณะของโพรงฟันหรือหลุมโพรงฟัน แต่จะไม่มีหนอนเข้าไปอยู่แต่อย่างใด และอาการของฟันผุนั้น โดยปกติก็จะอยู่ที่บริเวณฟัน ไม่ได้อยู่ที่บริเวณแก้มด้านนอกแต่อย่างใด

สาเหตุของฟันผุ

ฟันผุโดยปกติแล้วจะมีสาเหตุมาจากการสูญเสียแร่ธาตุ และการดูดซึมกลับของแร่ธาตุ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อเรารับประทานอาหารที่มีน้ำตาล ก็จะทำให้แบคทีเรียบริเวณผิวฟัน นำเอาน้ำตาลเหล่านั้นไปผลิตเป็นกรด จนทำให้ผิวฟันบริเวณรอบ ๆ นั้น เกิดการสูญเสียแร่ธาตุเกิดขึ้น

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงตัวอย่างฟันผุ

ดังนั้นเมื่อผู้ที่รับประทานของหวานเข้าไปบ่อย ๆ ก็จะเป็นสาเหตุของการสูญเสียแร่ธาตุที่มากขึ้น มากกว่าการดูดซึมแร่ธาตุกลับเข้าสู่โครงสร้างฟัน ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างฟันภายนอกไปเรื่อย ๆ เมื่อนานเข้าก็จะกลายเป็นโพรงฟันที่เรียกว่าฟันผุ ซึ่งแท้จริงแล้วเกิดจากแบคทีเรียในช่องปาก ไม่ได้เกี่ยวกับหนอนไชฟันแต่อย่างใด ส่วนคำเรียกสมัยก่อนที่คนมักเรียกฟันผุว่าเกิดจากแมงกินฟัน แท้จริงคือแบคทีเรียนั่นเอง

เคยพบหนอนในปากจริง แต่เป็นหนอนจากแมลงวัน

นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยถึงเคสของผู้ป่วยที่เคยพบว่ามีหนอนในช่องปาก ที่พบว่า เคยมีผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถแปรงฟันได้ และอาจจะไม่สามารถดูแลตนเองได้ และเมื่อมีการหมักหมมของเศษอาหาร จึงทำให้เกิดเชื้อโรคบริเวณช่องปาก จนกระทั่งแมลงวันมาตอมและไข่ไว้ในช่องปาก 

"เคสลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นจริง แต่โอกาสที่จะเกิดนั้นเป็นไปได้ยากมาก ๆ และไม่ได้มีความสัมพันธ์กับแมงกินฟันแต่อย่างใด"

เราพบว่าในอดีตเคยมีเคสของผู้ป่วยที่มีหนอนในปาก ซึ่งเคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2563 โดยทันตแพทย์ของโรงพยาบาลพระพรหม อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ได้โพสต์เตือนหลังพบเคสผู้ป่วยติดเตียงที่อาศัยอยู่ที่บ้าน มีหนอนในช่องปาก แต่ไม่สามารถแจ้งใครได้เนื่องจากผู้ป่วยพูดไม่ได้ ซึ่งกรณีของเคสนี้พบหนอนแมลงวันในปากถึง 12 ตัว (ลิงก์บันทึก)

การดูแลรักษาฟันที่ดีควรปฏิบัติดังนี้

การดูแลรักษาฟันที่แนะนำคือการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้า และก่อนนอน โดยปัจจุบันยาสีฟันมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 1,500 ppm ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งสำคัญคือการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และหลีกเลี่ยงการรับประทานของหวาน การทานขนม หรือน้ำผลไม้ต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพราะหากรับประทานอาหารเหล่านี้บ่อย ๆ หรือเป็นระยะเวลานาน ๆ จะยิ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดฟันผุได้ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้หากทำได้ หรือให้ทานเฉพาะในมื้ออาหารเพียงเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงฟันผุ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฟันผุถอนฟันปวดฟันหมอฟันดูแลสุขภาพสุขภาพสุขภาพฟันแมงกินฟันหนอนกินฟัน
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด