ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เซนเซอร์จิ๋วแปะใบไม้ ตรวจจับความเครียดของพืช เตือนก่อนใบเหี่ยว


Logo Thai PBS
แชร์

เซนเซอร์จิ๋วแปะใบไม้ ตรวจจับความเครียดของพืช เตือนก่อนใบเหี่ยว

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2570

เซนเซอร์จิ๋วแปะใบไม้ ตรวจจับความเครียดของพืช เตือนก่อนใบเหี่ยว
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

แผ่นแปะเซนเซอร์ขนาดจิ๋วติดใบไม้ ตรวจจับความเครียดของพืชจากสารชีวภาพในใบไม้ แจ้งเตือนก่อนพืชแสดงอาการ ช่วยลดความเสียหายจากความร้อนและขาดน้ำ

นักวิจัยในสหรัฐฯ พัฒนาแผ่นเซนเซอร์จิ๋วสำหรับติดลงบนใบไม้เพื่อตรวจจับความเครียดของพืชได้แบบเรียลไทม์ ก่อนที่อาการใบเหี่ยวหรือความเสียหายจะปรากฏให้เห็น เทคโนโลยีนี้ช่วยให้เกษตรกรรับมือกับปัญหาการเพาะปลูกได้ล่วงหน้า โดยเซนเซอร์จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อพืชเริ่มมีความเครียดจากความร้อนหรือขาดน้ำ ทำให้มีเวลาฟื้นฟูพืชได้ทันท่วงที

งานวิจัยจากคณะนักวิทยาศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน–เมดิสัน (University of Wisconsin–Madison) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร ACS Nano ของสมาคมเคมีอเมริกัน (American Chemical Society – ACS) โดยทีมวิจัยได้ออกแบบแผ่นแปะเซนเซอร์ขนาดจิ๋ว มีเข็มขนาดไมโครที่สามารถเจาะเข้าไปในเนื้อเยื่อของใบไม้ได้โดยไม่ทำลายเซลล์พืช จุดเด่นของเซนเซอร์นี้คือการตรวจวัดระดับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นโมเลกุลที่พืชปล่อยออกมาเมื่อเกิดความเครียดทางสรีรวิทยา ทำให้สามารถระบุปัญหาได้ก่อนพืชจะแสดงอาการให้เห็น

แผ่นเซนเซอร์ทำงานหลังการติดตั้งได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที โดยอุปกรณ์สามารถตรวจจับสัญญาณชีวภาพได้แม่นยำกว่าเทคนิคแบบเดิมที่ต้องรอให้พืชแสดงอาการเหี่ยวหรือเปลี่ยนสี ทีมวิจัยยังพัฒนาอัลกอริทึมประมวลผลร่วมกับเซนเซอร์เพื่อวิเคราะห์สัญญาณและแปลผลให้เข้าใจง่ายผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งอาจเชื่อมโยงเข้ากับระบบควบคุมการรดน้ำอัตโนมัติในอนาคต ช่วยให้เกษตรกรตอบสนองต่อความเครียดของพืชได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ภาพ 1 - เซนเซอร์แปะใบไม้ ตรวจจับความเครียดของพืช พร้อมแจ้งเตือนก่อนใบเหี่ยว

อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่เพียงเหมาะสำหรับการใช้งานในภาคการเกษตร แต่ยังสามารถนำไปใช้ในการวิจัยพันธุ์พืช ทดสอบความทนทานของพืชในภาวะโลกร้อน หรือแม้แต่ติดตั้งในเรือนเพาะชำเพื่อศึกษาผลกระทบจากสภาพแวดล้อมเฉพาะทาง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้ำจำกัด การตรวจจับสัญญาณเตือนล่วงหน้าจะช่วยให้มีเวลาจัดการกับปัญหาก่อนที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตหรือคุณภาพของผลผลิต

ทีมวิจัยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบนาโน (nano-fabrication) เพื่อสร้างโครงสร้างของเข็มไมโครที่มีความยืดหยุ่น สามารถแนบกับใบไม้ที่มีพื้นผิวแตกต่างกันได้โดยไม่หลุดง่าย นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ผลิตเซนเซอร์ยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ทำให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากต้องใช้งานในวงกว้าง ความยั่งยืนของเทคโนโลยีจึงถือเป็นจุดแข็งอีกด้านที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรมยุคใหม่ที่ต้องใส่ใจทั้งประสิทธิภาพและสิ่งแวดล้อม

แม้เทคโนโลยียังอยู่ในช่วงทดสอบ แต่ศักยภาพของเซนเซอร์จิ๋วนี้ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนหลายราย โดยเฉพาะบริษัทด้านเกษตรเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ที่เล็งเห็นถึงโอกาสการต่อยอดสู่อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะสำหรับพืช (plant wearables) ที่เชื่อมต่อกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกตามสภาพภูมิอากาศจริง เทคโนโลยีดังกล่าวอาจเปลี่ยนวิธีการดูแลพืชจากการเฝ้าสังเกตด้วยสายตา มาเป็นการติดตามสัญญาณชีวภาพแบบทันที

เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร

ที่มาข้อมูล: acs, scitechdaily, interestingengineering, newatlas
ที่มาภาพ: acs, ภาพ 1
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Scienceความเครียดของพืชอุปกรณ์ตรวจความเครียดพืชเซนเซอร์แปะใบไม้
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด