การสอบชิงทุนการศึกษาทั้งไทยและเทศอาจดูเป็นเรื่องยาก แต่หากวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจทำให้เรามีโอกาสคว้าทุนมากขึ้น
ช่วงปลายเดือน เม.ย. ไปถึงเดือน พ.ค. ถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็ก ม.6 ส่วนใหญ่และเด็กซิ่วที่ต้องยื่นคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS รอบที่ 3 (รอบส่วนกลาง หรือ Admission) และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เด็ก ป.ตรี ที่กำลังจะขึ้นปีสุดท้ายหลายคนก็คงเริ่มคิดถึงเรื่องการเรียนต่อในระดับ ป.โท หรืออาจถึง ป.เอก แต่ไม่ว่าจะเรียนต่อในระดับไหน การได้ทุนการศึกษาก็ช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินและสร้างความภูมิใจต่อตัวเอง
คำถามสำคัญคือ เราควรเลือกทุนการศึกษาและเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้ไปถึงฝั่งฝันได้ ?
Thai PBS จึงขอนำเสนอคำแนะนำจากประสบการณ์นักเรียนทุนตัวจริง เพื่อเป็นแนวทางคร่าว ๆ สำหรับคนที่อยากเรียนต่อและสอบชิงทุนการศึกษาไม่ว่าจะของไทยหรือเทศ ทั้งนี้ บทความนี้จะเน้นไปที่การสอบชิงทุนต่างประเทศเป็นหลักครับ
1) ตอบตัวเองให้ได้ว่า “อยากเรียนต่อจริง ๆ ใช่ไหม” ก่อนสมัครสอบชิงทุนการศึกษา
คำถามนี้สำคัญมากก่อนที่จะยื่นสมัครสอบชิงทุนการศึกษาใด ๆ ก็ตามครับ เราต้องแน่ใจเสียก่อนว่า อยากไปเรียนต่อเพราะอะไร และพร้อมหรือเปล่าที่จะอยู่ในโลกวิชาการต่อไปอีก 2 ปีในระดับ ป.โท และขั้นต่ำ 3 ปีในระดับ ป.เอก และในกรณีที่อยากเรียนต่อต่างประเทศ ยังมีเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสังคมเพิ่มเข้ามาให้คิดอีกด้วย
ในกรณีของผู้เขียน – ซึ่งเคยได้ทุนการศึกษาระดับ ป.โท จากโครงการ Erasmus Mundus ในหลักสูตรวรรณกรรมยุโรป (Master Course in European Literary Cultures หรือ Master CLE) – นั้น ผู้เขียนสมัครทุนการศึกษาเรียนต่อ ป.โท แบบไม่เว้นวรรค เพราะประเมินตัวเองแล้วว่า “ไหว” ที่จะเรียนต่อทันทีหลังจบ ป.ตรี และอยากใช้ความรู้ภาษาฝรั่งเศสที่ร่ำเรียนมาหลายปีในประเทศต้นทางครับ ประกอบกับจังหวะที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มเบาลงด้วย โดยผู้เขียนเริ่มวางแผนช่วงปลายเดือน ก.ค. 64 สอบวัดระดับภาษาที่ต้องใช้และเตรียมเอกสารช่วงเดือน ก.ย. 64-ม.ค. 65 ยื่นเอกสารและรอผลทุนการศึกษาระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. 65 ครับ

หากใครอยากเรียนต่อแต่ยังลังเล ก็อาจหาหลักสูตรระยะสั้นไป “ลองเชิงตัวเอง” ก่อนครับ ก่อนที่จะเรียนต่อ ป.โท ในเกาหลีใต้ ชลลดา เฉลิมไพโรจน์ - ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนทุนในเกาหลีใต้นั้น - เคยเรียนในหลักสูตรภาษาเกาหลีก่อน 1 ปีที่มหาวิทยาลัย Seoul National University โดยได้รับทุนการศึกษาจาก Asian Universities Network Scholarships ชลลดาบอกกับ Thai PBS ว่า การไปเรียนภาษาเกาหลีก่อน ทำให้พื้นฐานความรู้ของเธอแน่นขึ้นและเป็นการปรับตัวไปด้วย “เรารู้สึกว่า ตอนเรียนคอร์สภาษา ได้ใช้ภาษาเกาหลีเยอะกว่าตอนเรียน ป.โท อีกนะคะ เพราะว่าอยู่ในห้องเรียน ก็ต้องคุยเป็นภาษาเกาหลีทั้งกับเพื่อนนักเรียนต่างชาติและอาจารย์ แต่พอมาเรียนปริญญา ในห้องเรียน เราต้องนั่งฟังอาจารย์เป็นหลัก พอกลับมาที่หอ ก็ต้องนั่งอ่านวิจัยและบทความต่าง ๆ เสียมากกว่า”
นอกจากนี้ โครงการสอบชิงทุนการศึกษาหลายโครงการก็เปิดโอกาสให้คนวัยทำงานสอบชิงทุนการศึกษาด้วย อย่างเช่นศุภชัย ทองหงษ์ ที่อยากเพิ่มองค์ความรู้ภาษาฝรั่งเศสให้ลึกขึ้นหลังจากที่เป็นครูสอนภาษามาระยะหนึ่ง “ผมอยากเรียนโทต่ออีกใบหนึ่งเพื่อเก็บความรู้เชิงประสบการณ์และทฤษฎี ต่อยอดจากแพสชัน และหากเป็นไปได้ ก็อยากเอาองค์ความรู้พวกนี้มาพัฒนาวงการการสอนภาษาฝรั่งเศสในไทยครับ” ศุภชัยให้สัมภาษณ์ เขาได้สมัครเรียน ป.โท ด้านภาษาฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัย Université Sorbonne Nouvelle (Paris 3) และยื่นสอบชิงทุนการศึกษาของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยในโครงการ Franco-Thai Excellence Scholarship ที่กำหนดอายุผู้สมัครไม่เกิน 35 ปี จนคว้าทุนการศึกษาสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว

2) เปิดลิสต์หาทุนการศึกษาที่ “ใช่” สำหรับเรามากที่สุด
ทุกวันนี้ การค้นหาหลักสูตรและทุนการศึกษาอาจไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่การหาสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของเรานั้นยังคงยากเสมอ และอาจจะยากขึ้นด้วยซ้ำไปเพราะตัวเลือกมีมากมายเหลือเกินครับ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำตอนเสิร์ชหาหลักสูตรและทุนการศึกษาก็คือ การอ่านรายละเอียดต่าง ๆ ให้ดี ทั้งเรื่องคุณสมบัติ เอกสาร ค่าใช้จ่ายที่ทุนครอบคลุม (ข้อนี้น่าจะสำคัญที่สุด) และเงื่อนไขทุนการศึกษา
หลักเกณฑ์ข้อแรก ๆ ที่เราจะนึกถึงคือ “ต้องใช้ทุนการศึกษาคืนหรือเปล่า” ในกรณีที่ต้องใช้ทุนคืน มักจะเกิดขึ้นกับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทย เช่น ทุน ก.พ. ตามความต้องการส่วนราชการฯ (บรรจุก่อนไปศึกษา), ทุน ก.พ. สำหรับผู้ที่มีสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นในต่างประเทศตอบรับให้เข้าศึกษา และทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามความต้องการของ อว. ทั้ง 3 ทุนนั้นล้วนกำหนดให้ผู้รับทุนการศึกษากลับมาทำงานในหน่วยงานรัฐฯ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน
ส่วนทุนการศึกษาจากต่างประเทศนั้น แม้หลายโครงการจะเป็นทุนการศึกษาให้เปล่า แต่ก็ต้องดูเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดีครับ อย่างเช่นหลักสูตร Erasmus Mundus Master CLE ที่ผู้เขียนไปศึกษานั้น “บังคับ” ให้ผู้สมัคร “เลือกมหาวิทยาลัย” ที่จะไปศึกษาตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นการกำหนดไปในตัวด้วยว่า เราจะต้องเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวรรณกรรมยุคไหน เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญต่างกันไป ขณะเดียวกัน หลายหลักสูตรในโครงการทุนการศึกษาของ Erasmus Mundus ก็กำหนดแผนการเรียนและมหาวิทยาลัยที่จะต้องไปเรียนให้เสร็จสรรพครับ

บางทุนก็มีเงื่อนไขจำกัดเกี่ยวกับการเดินทางครับ ในกรณีของของชลลดา พอใกล้เรียนจบในหลักสูตรภาษา เธอก็เตรียมตัวสมัครทุนการศึกษา Global Korea Scholarship ในระดับ ป.โท ด้านวัฒนธรรมเกาหลีต่อที่มหาวิทยาลัย Ewha Womans University โดยชลลดาได้ยื่นสมัครผ่านสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ส่วนเงื่อนไขของทุนการศึกษานี้ก็คือ ต้องขออนุญาตก่อนเดินทางออกนอกเกาหลีใต้ทุกครั้ง และหากผู้ได้รับทุนการศึกษาเดินทางออกนอกประเทศเกิน 30 วัน ก็จะถูกหักค่าเบี้ยเลี้ยงรายวัน
กรณีของผู้เขียนและชลลดานั้นคือ “ฃการสมัครเรียนต่อ ป.โท และขอทุนการศึกษา ”พร้อมกัน” แต่มีอีกกรณีหนึ่งคือ การขอทุนการศึกษาและการสมัครเรียนต่อนั้น “แยกจากกัน” อย่างทุนการศึกษา Franco-Thai ที่ศุภชัยได้รับนั้น กระบวนการทั้ง 2 แยกออกจากกัน แต่ทำควบคู่กันไป และถึงแม้ทุนฯ จะให้อิสระผู้สมัครเลือกสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยเอง แต่ความกดดันอยู่ที่การนำเสนอแผนการเรียนของเราให้เข้าตากรรมการ “[ต้องโน้มน้าวว่า] สิ่งที่เราไปเรียนนั้นต่อยอดจากประสบการณ์ของเราเอง กรรมการก็จะยิ่งเห็นครับว่า เราเองก็ตั้งใจที่จะไปเรียนจริง ๆ” ศุภชัยเสริม

3) ฝึกภาษาต่างประเทศ เพิ่มแต้มต่อในการชิงทุนการศึกษา
ทักษะภาษาสำคัญอย่างมากสำหรับการยื่นสมัครทุนการศึกษาทั้งในไทยและเทศ และหลักสูตรแทบจะทุกที่ต่างขอ “ผลการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ” ครับ
ผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ 2 เจ้าหลัก ๆ ที่คนไทยรู้จักกัน คือ IELTS และ TOEIC ซึ่งใช้ระบบคำนวณคะแนนต่างกัน (ถึงจะตีค่าออกมาเป็นระดับ A1-C2 ได้เหมือนกันก็ตาม) และสถาบันในแต่ละภูมิภาคก็ยอมรับผลสอบไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่าลืมเช็กให้ดีครับว่า หลักสูตรที่เราจะสมัครนั้นใช้ผลสอบภาษาอังกฤษตัวไหนได้ และต้องดูให้ละเอียดว่า หลักสูตรและทุนฯ ที่เราจะสมัครนั้น ขอระดับภาษาขั้นต่ำในแต่ละทักษะ (ฟัง, พูด, อ่าน, เขียน) ด้วยหรือเปล่า ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างหลักสูตรด้านวารสารศาสตร์ Erasmus Mundus Journalism ที่กำหนดว่า ผู้สมัครสามารถใช้คะแนน IELTS ได้ แต่ต้องได้ระดับคะแนนรวมขั้นต่ำ 7.0 และทุกทักษะต้องได้ระดับคะแนนขั้นต่ำ 6.0
แม้บางหลักสูตรนานาชาติจะจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษล้วนและใช้เพียงผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่การมีผลสอบวัดระดับภาษาที่ 3 หรือภาษาของประเทศปลายทางนั้น ก็อาจช่วยให้เราได้รับคัดเลือกให้ศึกษาต่อและได้ทุนการศึกษาครับ
ทักษะภาษาฝึกได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันผ่านการดูคลิป TikTok และหนัง (ต้องมีซับไตเติลตามภาษาต้นฉบับด้วยถึงจะได้ผล) ฟังเพลง อ่านหนังสือ กล้าพูดผิดพูดถูกทั้งในและนอกห้องเรียน แต่เมื่อจะเตรียมตัวสอบวัดระดับภาษา ก็ต้องลองทำข้อสอบแบบเสมือนจริงให้ชินครับ “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณได้ทฤษฎีแล้ว ต้องลองทำข้อสอบเยอะ ๆ อันนี้ใช้ได้กับทุกข้อสอบเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบวัดระดับภาษาหรือวัดระดับทักษะอื่น ๆ ลองจับเวลา เราจะได้ชินแนวข้อสอบและแนวทางการตอบด้วย” ชลลดาแนะนำ

4) ‘ประสบการณ์’ และ ‘แต้มบุญ’ สำคัญสำหรับการสอบชิงทุนการศึกษา
นอกเหนือจากผลการเรียนและระดับภาษาแล้ว เราจะขาดประสบการณ์ต่าง ๆ ไปไม่ได้ครับ เนื่องจากหลักสูตรและโครงการทุนการศึกษาต่าง ๆ พิจารณาถึงสิ่งที่เราเคยทำมาทั้งในและนอกรั้วสถานศึกษา ซึ่งคิดเป็นน้ำหนักคะแนนไม่น้อยทีเดียว
เทคนิคหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำก็คือ ในจดหมายจูงใจ (motivation letter) ต้องระบุให้ชัดเจนว่า
- เรากำลังหรือเคยเรียนด้านไหนมา (อาจเน้นวิชาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่อยากจะเรียนต่อ)
- มีประสบการณ์ทำงานจากที่ใด (ข้อนี้ขยี้ได้ยิ่งดี แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง)
- ทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง
- ทำไมถึงอยากเรียนต่อในหลักสูตรที่สมัคร
- จะเอาความรู้ที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาต่ออย่างไร
- คาดหวังอะไรกับการศึกษาต่อ
ยกตัวอย่าง ตอนที่ผู้เขียนเขียน motivation letter (ซึ่งมีน้ำหนักคะแนนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในการพิจารณาทุนการศึกษาของหลักสูตร Erasmus Mundus Master CLE) ผู้เขียนเน้นว่า มีประสบการณ์ทำงานกับนิตยสารต่างประเทศในไทย และอยากไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย University of Strasbourg ในฝรั่งเศส และ Aristotle University of Thessaloniki ในกรีซ เพราะทั้ง 2 แห่ง มีการสอนวรรณกรรมเปรียบเทียบซึ่งผู้เขียนสนใจ ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้เขียนอยากเชื่อมโยงวรรณกรรมไทยกับวรรณกรรมยุโรป เพื่อเป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมไปด้วย
นอกจากนี้ การขอให้ผู้ใหญ่ที่เห็นพัฒนาการของเรามาโดยตลอด - เช่น อาจารย์ เจ้านาย หรือหัวหน้างาน - เขียนจดหมายแนะนำ (letter of recommendation) ให้ก็สำคัญ เพื่อยืนยันว่าเรามีคุณสมบัติตามจริงครับ
ชลลดาเห็นด้วยว่า ประสบการณ์ต่าง ๆ มีค่าอย่างยิ่งในการสมัครเรียนต่อและขอทุนการศึกษา โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ “เดี๋ยวนี้เรามองว่า ประเทศเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับผลงานและการเก็บ portfolio ค่อนข้างเยอะ อย่างเด็กเกาหลีเองจะหางาน โดยเฉพาะงานด้านอาสาและงานพาร์ตไทม์เพื่อเก็บประสบการณ์ [ถึงแม้] เราไม่เคยมีประสบการณ์ทำงาน แต่สะสมเป็นกิจกรรมอย่างอื่นตอนอยู่ ป.ตรี เสียมากกว่า เช่น การอยู่ในกิจการนิสิตของคณะฯ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาภาษาเกาหลี ถ้ามีเกียรติบัตรก็อย่ารีบทิ้ง เพราะสำคัญมากตอนยื่นทุนการศึกษาค่ะ” ชลลดาแนะนำไว้

ผู้เขียนและชลลดาต้องแข่งขันชิงทุนการศึกษากับ “คนทั้งโลก” ซึ่งต้องยอมรับว่า การได้รับทุนการศึกษาต้องอาศัยทั้งความเก่งและความเฮง ชลลดานั้นต้องผ่านการพิจารณาทั้งหมด 5 รอบระหว่างเดือน มี.ค.-ส.ค. 66 กว่าจะได้รับทุนการศึกษาระดับ ป.โท จาก Global Korea Scholarship “เป็นความรู้สึกแบบ... โอ้โห ถ้า ‘ตุ้บ’ ไปกลางทาง เราจะเซ็งมาก เพราะฉะนั้น จะมีความรู้สึกไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา แต่ตอนที่เตรียมตัวยื่นทุนการศึกษา เราอยู่เกาหลีอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่า ถึงไม่ได้ก็คงไม่เป็นไรหรอก ถ้าติดก็ดี ไม่ติดก็ไม่เป็นไรค่ะ” ชลลดาเล่าย้อนถึงชีวิตตอนสอบทุนรอบใหม่ ขณะที่ผู้เขียนรู้สึกกดดันน้อยกว่านิดหนึ่ง เพราะยื่นเอกสารทุกอย่างไป แล้วรอจนถึงวันประกาศผลรวดเดียวครับ
อีกด้านหนึ่ง สำหรับหลายคนนั้นอาจจะต้องใช้เวลาพักใหญ่เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานให้สุกงอมเสียก่อน อย่างเช่นศุภชัย “ผมเองเคยสมัครทุนฯ Franco-Thai ครั้งแรกตอนปี 4 [เพื่อไปเรียนต่อด้านการแปล] ไม่ได้ทุนนะครับ... มานั่งตกผลึกแล้วคิดได้ว่า ต้นทุนของเรา ณ ตอนนั้นไม่เพียงพอ ทั้งความรู้ ความเข้าใจในสาขาที่อยากไปเรียน โปรไฟล์ หรือประสบการณ์” ศุภชัยเล่า “กลับกัน หลังจากที่สอนภาษาฝรั่งเศสมาหลายปี ก็สร้าง ‘ต้นทุนความรู้’ ของตัวเองจน คิดว่า การเตรียมความพร้อมตรงนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้ได้ทุนมาครับ”
การได้รับทุนการศึกษาคือ “โอกาส” และ “สิทธิพิเศษ” ในชีวิตคนคนหนึ่ง และต้องยอมรับครับว่า ต้นทุนของการเตรียมตัวต่าง ๆ ก็มีไม่ใช่น้อย แต่ถ้าใครไหวและตั้งใจจริงที่จะทำตามความฝันของตัวเอง ก็อย่าลังเลว่าเราจะเก่งพอหรือเปล่า เพราะทุกคนบนโลกมีสิทธิ์ที่จะสมัครชิงทุนการศึกษาครับ
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือคุณต้องให้โอกาสตัวเองค่ะ ไม่ต้องเครียดหรือกังวลว่า คนรอบข้างจะเก่งเสียจนมาตัดโอกาสคุณ ถ้าคิดอย่างนั้น คือการตัดโอกาสตัวเองค่ะ” ชลลดาฝากทิ้งท้าย ส่วนศุภชัยได้ให้กำลังใจคนที่สมัครทุนการศึกษาแต่ยังไม่เคยได้ว่า “แม้เราอาจจะสมัครทุนการศึกษาไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่ถ้ามั่นใจกับเส้นทางที่เราเลือกเดิน อย่าทิ้งความพยายามในการสร้างต้นทุนและการสั่งสมชั่วโมงบินของตัวเอง มันก็อาจจะทำให้เราคว้าทุนการศึกษาสำเร็จในสักวันหนึ่งครับ”

อ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจาก Thai PBS NOW
- ทำไม ? ควรประยุกต์ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” เพื่อการศึกษา
- ผู้ใหญ่ตกงาน เด็กจบใหม่เคว้ง ปัญหาที่ต้องแก้ให้ตก
- เมื่ออนาคตที่ดี มีพื้นที่จำกัด เปิดที่มา ทำไมนักเรียนไทยถึงการแข่งขันสูง
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW: www.thaipbs.or.th/now