ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชีวิตไม่ติดลบ “ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์” จากนักปั่นอนาคตไกล สู่โค้ชจักรยานบนวีลแชร์


Interview

21 เม.ย. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

ชีวิตไม่ติดลบ “ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์” จากนักปั่นอนาคตไกล สู่โค้ชจักรยานบนวีลแชร์

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2588

ชีวิตไม่ติดลบ “ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์” จากนักปั่นอนาคตไกล สู่โค้ชจักรยานบนวีลแชร์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

“ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา” ประโยคที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ทว่าจะมีสักกี่คน ที่เข้าใจได้ดีถึงประโยคนี้ แต่สำหรับ “บาส - ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์” เขาเป็นคนหนึ่งที่รู้ซึ้งในประโยคนี้ ได้ดีไม่น้อยไปกว่าใคร ๆ

ย้อนเวลากลับไปหลายปีก่อน บาส - ภุชงค์ เป็นนักกีฬาจักรยานระดับหัวแถวของเมืองไทย นอกจากจะเป็นนักกีฬาทีมชาติ เขายังเป็นหนึ่งในนักกีฬาจักรยานอาชีพ ที่พาตัวเองไปเทิร์นโปร และตระเวนแข่งในหลายประเทศรอบโลก

ทว่าในปี 2563 บาสประสบอุบัติเหตุในการฝึกซ้อมอย่างรุนแรง จนทำให้กระดูกสันหลังหัก ส่งผลให้กลายเป็นอัมพาตไปครึ่งตัว และปิดฉากเส้นทางการเป็นนักแข่งจักรยานอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว

กว่าหนึ่งปีที่พยายามฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตใหม่ บาสต้องก้าวข้ามอุปสรรคและเรียนรู้ชีวิตใหม่บน “วีลแชร์” แต่ด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ เขาได้รับโอกาสให้หวนคืนสู่แวดวงจักรยานอีกครั้ง โดยทำหน้าที่เป็น “ผู้บรรยายการแข่งขันจักรยาน” รวมทั้งได้เข้ามารับหน้าที่ในบทบาท “โค้ชจักรยานทีมชาติไทย”

ทุกวันนี้ บาสเป็นหนึ่งในทีมงานสตาฟโค้ชนักปั่นจักรยานทีมชาติ แม้จะต้องเปลี่ยนจากการนั่งบนหลังอาน มานั่งบนรถเข็นวีลแชร์ แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคในการทำหน้าที่แต่อย่างใด เพราะนี่คือสิ่งที่เขารัก แม้จะไม่ได้นำพาจักรยานเข้าสู่เส้นชัยเหมือนแต่ก่อน แต่การได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันน้อง ๆ ให้ไปสู่จุดหมาย เป็นอีกหนึ่งเป้าหมาย ที่เจ้าตัวอยากทำให้สำเร็จ

Thai PBS ชวนโค้ชจักรยานวัย 37 ปีมาร่วมพูดคุย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ การก้าวเรื่องราวอันเลวร้ายของผู้ชายคนนี้ อาจเป็นจุดประกายเล็ก ๆ ให้กับใครสักคนที่กำลังประสบกับความทุกข์ ได้ลุกขึ้นมา “สู้” ต่อไปกับชีวิต

จากนักปั่นบนหลังอาน สู่โค้ชจักรยานบนวีลแชร์

บาสเริ่มต้นพูดคุย เล่าเรื่องราวการเป็นโค้ชจักรยานทีมชาติในปัจจุบันให้ฟังว่า ภารกิจหลัก ๆ ของเขา คือการออกโปรแกรมการฝึกซ้อมให้กับน้อง ๆ ในทีม รวมทั้งตระเวนไปในทุกพื้นที่ที่มีการซ้อม เพื่อคอยดูแลนักกีฬาอย่างใกล้ชิด

“ผมเป็นโค้ชที่ทำหน้าที่ออกโปรแกรมการฝึกซ้อม ซึ่งลักษณะการซ้อมปั่นจักรยานมีหลายแบบ เช่น แบบ Endurance คือการขี่ระยะทางไกล เน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือการขี่แบบ Interval ที่เน้นทำความเร็ว ลักษณะการซ้อมทั้งหมดเหล่านี้ เราคือคนจัดทำโปรแกรมให้กับนักกีฬาแต่ละคน”

“ในทุก ๆ วัน ผมจะตื่นเช้าเพื่อมาจัดเตรียมของให้นักกีฬา โดยมีสตาฟอีกสองคนคอยช่วยเหลือ จากนั้นเราจะมีหน้าที่ขับรถตามนักกีฬา สมมติเขาปั่น 4 ชั่วโมง ผมก็ต้องนั่งรถตามเขาทั้ง 4 ชั่วโมง เพื่อดูลักษณะของเส้นทาง ที่บางครั้งอาจไม่ปลอดภัย อาจจะมีขรุขระบ้าง ติดนู่นติดนี่บ้าง เพราะฉะนั้น เราต้องคอยดูแล บางโปรแกรมอาจมีการเปลี่ยนบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง”

บาสเล่าต่อว่า เขาทำหน้าที่ตรงนี้มาราว ๆ 3 ปี นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุกับตัวเอง โชคดีที่ทางผู้ใหญ่ในสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เล็งเห็นความสามารถ จึงชักชวนให้ลองมาทำหน้าที่นี้ดู

“ด้วยความที่เราเป็นนักจักรยานทีมชาติเก่า ท่านนายกสมาคมฯ จึงเล็งเห็นว่า เรามีทักษะเรื่องการออกโปรแกรมการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬา ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมเคยเป็นโค้ชให้กับทีม Prime 19 ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่สร้างนักกีฬาจักรยานขึ้นมาเป็นทีมชาติ พอดีว่าเราทำผลงานตรงนั้นได้ดี เขาจึงดึงตัวมาช่วยเป็นโค้ชทีมชาติไทยด้วย”

จากนักกีฬา มาสู่โค้ชทีมชาติ แม้จะต้องนั่งบนรถเข็นวีลแชร์ แต่บาสบอกว่า ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจ ความบกพร่องทางร่างกาย จึงไม่ใช่ปัญหาที่มาเหนี่ยวรั้งในการปฏิบัติหน้าที่ของเขา

“งานค่อนข้างเหนื่อยนะครับ และงานก็เยอะมาก (หัวเราะ) แต่พอเราได้เห็นรอยยิ้มของน้อง ๆ ในทีม หรือว่ารอยยิ้มของคนเชียร์กีฬาจักรยาน ที่เขามีความสุขกับความชัยชนะของนักกีฬาไทย ผมก็รู้สึกว่า มันหายเหนื่อย”

ชีวิตที่คลิกกับพาหนะสองล้อ

บาสย้อนเล่าช่วงชีวิตในวัยเยาว์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขี่จักรยานว่า เขาเป็นชาวจังหวัดพะเยา แถมยังเป็นเด็กขี้โรคที่ครอบครัวอยากให้เล่นกีฬา แต่เจ้าตัวก็ไม่ค่อยถูกโฉลกกับกีฬาหลาย ๆ ชนิดที่ทดลองเล่น

“เคยไปเล่นฟุตบอล ปรากฏว่าวิ่งไล่ตามลูกฟุตบอลไม่ทัน (หัวเราะ) หลังจากนั้นลองไปว่ายน้ำ ซึ่งก็พอทำได้ดี แต่ก็รู้สึกว่ามีการจัดแข่งขันน้อย คิดว่ามันยังไม่ใช่ กระทั่งไปดูทีวี เห็นการแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์ ซึ่งเป็นการแข่งขันจักรยานระดับโลก อยู่ดี ๆ ผมก็ปิ๊งขึ้นมา ผมบอกพ่อว่า อยากลองขี่จักรยานแบบนี้”

“พอพ่อได้ยิน ความที่แกอยากให้เราเล่นกีฬามานาน พ่อจึงไปซื้อจักรยานมือสองมาให้คันหนึ่ง ในราคา 6,800 บาท เมื่อก่อนถือว่าแพงมาก แต่แกก็ซื้อให้ ซื้อต่อจากเพื่อน ยอมผ่อนเงินเขาเอา”

ภาพจาก Phuchong Saiudomsin Page

บาสเล่าเรื่องในอดีตพร้อมรอยยิ้ม เขาบอกว่า ยังจำวันแรก ๆ ในการฝึกซ้อมจักรยานแบบจริงจังได้ดี เป็นพ่อกับแม่ของเขานี่เอง ที่เป็นคนคอยดูแล ทั้งผลักทั้งดันให้เขาทำในสิ่งที่รักให้สำเร็จ

“วันแรกที่ไปซ้อมคือหลุดจากกลุ่ม (หัวเราะ) โชคดีที่พ่อแม่คอยผลัดกันดัน เขาจะสลับกันมาทำหน้าที่คนละวัน เพื่อขี่มอเตอร์ไซค์ดันท้ายผมให้กลับเข้ากลุ่มให้ได้ (หัวเราะ) จนเราค่อย ๆ พัฒนาขึ้น เริ่มตระเวนลงแข่งงานจักรยานเล็ก ๆ ในภาคเหนือ”

“พอช่วงอายุ 15 – 17 ปี ได้ขึ้นเป็นตัวเยาวชนของจังหวัด จากนั้นได้รับโอกาสให้ขึ้นไปติดรุ่นทั่วไป 19 ปี ช่วงนั้นเราทำผลงานได้ดี ตระเวนแข่งชิงแชมป์ประเทศไทย ทำผลงานขึ้นโพเดียมตลอด กระทั่งติดทีมชาติชุดใหญ่ จำได้ว่า รายการแรกที่ได้ลงแข่งคือ ซีเกมส์ 2008 ซึ่งถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต”

ปั่นสู่โลกอันกว้างใหญ่กว่าเดิม

จากรายการแข่งขันกีฬาระดับเมเจอร์อย่างซีเกมส์ ซึ่งเขาทำผลงานจบในอันดับที่ 5 หลังจากนั้น บาสตั้งเป้าหมายใหม่ที่ “ใหญ่” กว่าเดิม นั่นคือ การเดินทางไปเทิร์นโปรยังต่างประเทศ

“หลังจากแข่งซีเกมส์เสร็จ ผมใช้ทุนส่วนตัว เดินทางไปเทิร์นโปรที่ประเทศฝรั่งเศส ถ้าย้อนไปสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นยังไม่มีทีมอาชีพในเมืองไทย การจะเป็นนักกีฬาจักรยานอาชีพ ต้องไปเทิร์นโปรที่เมืองนอก เหมือนนักฟุตบอล ที่ออกไปค้าแข้งต่างประเทศ แต่มีเงื่อนไขคือ ผมต้องทำผลงานให้ทีมอื่น ๆ ในต่างประเทศได้รู้จักตัวเรา ทำให้เขาเห็นฝีไม้ลายมือ เพื่อดึงเราเข้าไปร่วมทีม”

ภาพจาก Phuchong Saiudomsin Page

“ตอนนั้นผมมีหัวหน้าเป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขามีเฟรนด์ชิพอยู่ที่ฝรั่งเศส จึงทำเรื่องหาทีมรองรับไว้ให้ ผมไปอยู่ที่นั่น 3 เดือน ได้ลงแข่ง 30 แมตช์ ที่เหลืออีก 60 วันก็ซ้อมอย่างเดียว จนกระทั่งผลงานไปเข้าตาทีมอาชีพของเกาหลีใต้ ชื่อทีมว่า Geumsan ginsan asia team เป็นทีมระดับดิวิชัน 3 ที่เป็นทีมอาชีพ ส่วนระดับดิวิชัน 1 จะเป็นพวกที่แข่งในตูร์ เดอ ฟรองซ์”

“เมื่อก่อนคนไทยมีไม่กี่คน ที่ได้ไปทีมอาชีพแบบนี้ ตอนนั้นเรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนให้กับตัวเอง พออยู่ทีมเกาหลีใต้ได้ 2 ปี ก็ย้ายทีมมาอยู่ทีมในมาเลเซีย (Terenganu pro asia team) อีก 2 ปี ก่อนจะย้ายไปอยู่ทีมในสิงคโปร์ (OCBC singapore continental cycling team) อีก 2 ปี”

ภาพจาก Phuchong Saiudomsin Page

“ชีวิตช่วงอายุ 20 กว่า ๆ เราตระเวนแข่งไปทั่วโลก ไปยุโรป หรือในเอเชียก็ไปมาแทบทุกประเทศ ผมเดินทางเกือบทุกอาทิตย์ ใช้ชีวิตแบบคุ้มมาก เป็นช่วงเวลาที่อิ่มมาก ๆ ทุกวันนี้พอย้อนคิดกลับไป ผมดีใจที่ได้ทำแบบนั้น เพราะผมใช้ชีวิตที่ไม่ได้อยู่ใน safe zone ผมใช้ชีวิตแบบกล้าได้กล้าเสีย คือออกไปเสี่ยงเลย"

ถ้าผมอยู่ใน safe zone ผมคงไม่เป็นแบบนี้ คืออะไรที่มันดี ผมก็ยินดีแลก แต่ถ้ามันรู้สึกว่าต้องเสี่ยง ผมก็ยังกล้าแลกนะ ถ้ามันทำให้เราได้ประสบการณ์กลับมา

จากจุดสูงสุด สู่อุบัติเหตุพลิกชีวิต

บาสเล่าต่อมาว่า หลังจากตระเวนแข่งในต่างประเทศกับทีมมากมาย สุดท้ายเขาก็เดินทางกลับประเทศไทย เพื่อมาสังกัดทีม Thailand continental cycling team ซึ่งเป็นทีมลีกอาชีพของประเทศไทย ชีวิตในช่วงนั้น ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะลงทำการแข่งขัน ในคราวเดียวกัน ยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้มา ให้กับน้อง ๆ นักปั่นจักรยานคนอื่น ๆ อีกด้วย

“ตอนนั้นเราคิดแค่ว่า เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชอบ แล้วทำให้มันดีที่สุด ทำเท่าที่เราจะสามารถทำได้ ในคราวเดียวกัน เรายังได้สอนน้อง ๆ แชร์ประสบการณ์ที่ได้มา การสอนของผมคือการทำให้เห็นภาพ โดยเฉพาะตอนที่เราลงแข่งไปกับเขา เราสอนเขาไปตอนนั้น เขาจะเก็ตได้ง่ายขึ้น"

ในช่วงเวลาของความสุข จู่ ๆ โชคชะตากลับเล่นตลก บาสเกิดอุบัติเหตุในการซ้อม แถมยังไม่ใช่อุบัติเหตุธรรมดา เพราะมัน “พลิก” ชีวิตของเขาให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

“ตอนนั้นเป็นช่วงที่กำลังซ้อมเพื่อชิงแชมป์ประเทศไทย ราว ๆ ปี 2563 ผมกลับไปซ้อมปั่นที่บ้านจังหวัดพะเยา เพราะเป็นช่วงที่โควิดระบาด กระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่กำลังจะขี่ลงจากเขา ความเร็วประมาณ 70 กม./ชม. ปรากฏว่ามีหินวางอยู่บนถนน ลักษณะเป็นหินที่เขาเอาไว้ใช้หนุนล้อรถที่จอดเสีย เขาซ่อมเสร็จแล้วไม่ยอมเก็บออกไป ทำให้รถจักรยานของผม วิ่งไปชนเข้ากับหินอย่างจัง"

ช่วงหลังของผมสไลด์ไปฟาดเข้ากับแบริเออร์ข้างทาง ทำให้กระดูกสันหลังหัก และส่งผลให้ผมกลายเป็นอัมพาตไปครึ่งท่อน ตั้งแต่กระดูกสันหลังข้อที่ 10 ลงไป

บาสเล่าว่า หลังฟื้นจากอุบัติเหตุที่โรงพยาบาล ทันทีที่คุณหมอแจ้งอาการที่เกิดขึ้น เขารู้สึกช็อก และไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก

“หมอบอกตั้งแต่วันแรกว่า ผมอาจจะต้องใช้ชีวิตบนรถเข็น ตอนแรกที่ได้ยิน ผมเถียงหมอทันที ยังไงผมก็จะไม่ใช้ชีวิตบนรถเข็น ผมจะกลับไปปั่นจักรยาน จะกลับไปเดิน แต่ช่วงเวลาที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เราเริ่มศึกษา และค่อย ๆ เข้าใจว่า โรคนี้เป็นยังไง”

บาสเล่าต่อว่า กว่าที่เขาจะยอมรับและทำใจได้ ต้องผ่านช่วงวันคืนอันแสนสาหัส ซึ่งเป็นสิ่งที่เขายังจดจำได้ไม่มีวันลืม

“ถ้าให้นึกย้อนกลับไป วันที่แย่ที่สุด น่าจะเป็นวันที่นอนอยู่ในห้องไอซียู หลังผ่าตัดที่หลังเสร็จ ตื่นขึ้นมาพบว่า เราโดนมัดแขนสองข้างติดไว้กับเตียง มีเครื่องช่วยหายใจ มีสายระโยงระยางเต็มไปหมด พูดอะไรก็พูดไม่ได้ เพราะมีที่มัดฟันเอาไว้ด้วย”

“ในความรู้สึกตอนนั้น ผมขอแค่ให้ได้ออกไปจากห้องนี้ ขอให้ได้ใช้ชีวิตแบบปกติ แค่นี้ผมก็ดีใจแล้ว"

"ทุกวันนี้ ผมยังใช้ภาพวันที่ตัวเองทรมานที่สุด เป็นแรงผลักดันให้กับตัวเอง ถ้าเมื่อไรที่ผมเหนื่อย ผมจะนึกถึงวันนั้น ในเมื่อเรายังสามารถผ่านมันมาได้ เราก็ไม่ต้องกลัวกับอะไร”

ชีวิตใหม่...เริ่มต้นได้เสมอ

การจมอยู่กับความทุกข์ ไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่การจะลุกขึ้นเพื่อเดินหน้าใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายเช่นกัน บาสบอกว่า เขาใช้เวลานานนับปี กว่าจะลุกได้ด้วยหัวใจ พร้อมกับนำพาตัวเองไปสู่จุดหมายใหม่ให้ได้อีกครั้ง 

“ช่วงปีแรกยังจิตตก แต่หลังจากค่อย ๆ ปรับตัว ฝึกที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ พยายามศึกษาและเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้น ทางผู้ใหญ่ในสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ให้โอกาส ชวนเรามาบรรยายเกมการแข่งขันจักรยาน เป็นที่มาของการได้มาเป็นหนึ่งในทีมผู้บรรยายในการแข่งขันจักรยานทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์”

“แรก ๆ ยังรู้สึกเขิน ๆ อาย ๆ เพราะเราเคยเป็นนักกีฬา ไม่เคยเป็นนักพากย์มาก่อน แต่ก็ค่อย ๆ ปรับตัว เราอาจไม่ได้พูดคำสละสลวย แต่เราพยายามเน้นให้ความรู้กับผู้ชม ซึ่งมีข้อดีคือ เรารู้คำศัพท์กีฬาจักรยานเยอะ เราสามารถอธิบายให้คนดูเข้าใจแบบง่าย ๆ  ทำให้คนดูการแข่งจักรยานสนุกและได้ความรู้เพิ่มขึ้น”

นอกจากงานบรรยายการแข่งขันจักรยาน บาสยังพ่วงงานโค้ชให้กับนักกีฬาทีมชาติ แม้วันนี้ จะไม่ได้อยู่ในสถานภาพเป็นคนนั่งบนเบาะจักรยาน แต่ชีวิตก็ยังสามารถสนุกไปกับพาหนะสองล้อนี้ได้ไม่แตกต่างกัน ทั้งหมดทั้งมวล เขาบอกว่า อยู่ที่ทัศนคติและวิธีคิดที่เลือกจะมอง

“ถ้าเราจมปรักอยู่กับความทุกข์ เราจะไม่มีวันได้พบกับความสุข แต่ถ้าเราไม่รู้จักความทุกข์ เราก็จะไม่มีวันได้รู้จักความสุขเช่นกัน เมื่อไรที่เรารู้จักความทุกข์แล้ว เราควรเปลี่ยนมัน พลิกหาให้ได้ว่า เราจะหาความสุขได้จากจุดไหน"

อย่าจมอยู่กับความทุกข์ คุณต้องเดินออกมาจากมัน เพื่อออกมาแล้วมาหาความสุข

“แต่ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรคือความสุข เพราะความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ควรเป็นสิ่งที่ทำแล้วไม่เดือดร้อนคนอื่น แล้วทำให้ชีวิตเราดำเนินต่อไปได้ โดยที่ต้องสร้างรอยยิ้มให้กับเราได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องไปหางานที่ได้เงินเยอะ ๆ เพราะการมีเงินเยอะ ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุขเสมอไป เอาแค่สามารถเลี้ยงดูชีวิตเราได้ก็พอ”

บาสบอกว่า ชีวิตในวันนี้ หากคิดจะทำสิ่งใด เขาจะลงมือทำทันที เพราะสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอุบัติเหตุครั้งนี้ สะท้อนเป็นอย่างดีว่า ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้ชีวิตจะเป็นอย่างไร

ทำวันนี้ให้ดีที่สุดครับ เพราะเราไม่รู้เลยว่า วันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา ผมอยู่บนจักรยานมาเป็น 10 – 20 ปี แล้วอยู่ดี ๆ วันหนึ่ง แค่เสี้ยววินาที มันก็พลิกชีวิตของเราไป

“ทุกวันนี้เราไม่ต้องรอโอกาสมาถึงเรา แต่เมื่อไรที่เราสมบูรณ์ เราพร้อมที่จะทำ ให้เรารีบทำเลย เราไม่ต้องรอ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยทำ มะรืนค่อยทำ เดือนหน้าค่อยทำ เพราะเราไม่รู้เลยว่า พรุ่งนี้ หรือว่ามะรืน หรือว่าปีหน้า มันจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา เราไม่รู้ว่าเราจะสมบูรณ์เหมือนทุกวันนี้ไหม จะมีแรงทำเหมือน ณ ตอนนี้ไหม เพราะฉะนั้น คิดอยากทำสิ่งใดให้ลงมือทำ เราจะได้ไม่ต้องมาเสียใจในวันที่เราไม่มีโอกาสทำมันแล้ว”

บาสบอกว่า ทุกชีวิตย่อมมีความทุกข์ แต่ทุกความทุกข์ย่อมมีทางออกอยู่เสมอ ขอให้ค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ หาวิธี ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์แบบไหน วันหนึ่งย่อมผ่านไปจนได้ 

“ความสุขของผมทุกวันนี้ คือการได้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะของทุกคนที่อยู่รอบข้าง ทุกวันนี้ผมทำงานเหนื่อย แต่ว่าผมหายเหนื่อยจากเสียงหัวเราะของทุก ๆ คน แล้วก็ของน้อง ๆ นักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยทุกคน"

"ตอนผมอยู่กับน้อง ๆ นักกีฬา ผมรู้สึกผมเอนจอยมาก มันเป็นเหมือนครอบครัว ทุกครั้งหลังแข่งเสร็จ ผมจะต้องพิมพ์ข้อความหาน้อง ๆ พยายามแก้เกมให้ รวมทั้งให้กำลังใจทุกคน แล้วเมื่อไรที่เห็นน้องชนะ หรือเห็นนักกีฬาไทยชนะ ผมรู้สึกปลื้มปริ่ม มันหายเหนื่อย โลกของจักรยานของผม ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน”

เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า พรุ่งนี้...ชีวิตจะพบกับความสุขหรือเรื่องทุกข์สักแค่ไหน ทว่าสิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือชื่นชมและอิ่มเอมกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับทำอย่างที่ผู้ชายคนนี้ว่าเอาไว้ คือทำวันนี้...ให้ดีที่สุด

ภาพถ่ายบุคคลโดย : สุภณัฐ รัตนธนาประสาน
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์นักกีฬาจักรยานนักปั่นจักรยานทีมชาติโค้ชจักรยานทีมชาติไทยบาส ภุชงค์บาส
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด