จากงานวิจัยล่าสุดจากข้อมูลเก่าของหุ่นยนต์ Curiosity ได้ตรวจพบโมเลกุลอินทรีย์สายยาวอย่างเดเคน, อุนเดเคน และโดเดเคน (Decane, Undecane และ Dodecane) ซึ่งถือเป็นโมเลกุลอินทรีย์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบมาบนดาวอังคาร สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นชิ้นส่วนของกรดไขมันที่เกิดมาจากสิ่งมีชีวิต
โมเลกุลที่ค้นพบในครั้งนี้มีจำนวนอะตอมคาร์บอนอยู่ระหว่าง 10 ถึง 12 อะตอม ซึ่งสอดคล้องกับกรดไขมันสายยาวที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตบนโลก กรดไขมันเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์และองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในเซลล์ แต่แน่นอนว่าการค้นพบนี้ยังไม่สามารถเป็นตัวชี้ชัดได้ว่าทั้งในอดีตและปัจจุบันนี้ดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตอยู่ ซึ่งหากมองในมุมมองนั้น กรดไขมันเหล่านี้ก็สามารถที่จะก่อตัวได้จากกระบวนการทางธรณีเคมี เช่น ปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับแร่ธาตุในระบบน้ำพุร้อนใต้มหาสมุทร
ความยาวของสายคาร์บอนยังเป็นจุดที่น่าสงสัย เพราะโดยทั่วไปแล้ว กระบวนการที่ไม่ได้เกิดจากสิ่งมีชีวิตจะผลิตกรดไขมันที่มีคาร์บอนได้น้อยกว่า 12 อะตอม ซึ่งการพบโมเลกุลที่มีสายยาวขนาดนี้จึงเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามว่า หรือว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิต
หุ่นยนต์ Curiosity ขุดค้นและพบกับโมเลกุลอินทรีย์เหล่านี้คือก้อนหินก้อนหนึ่งที่ชื่อว่าคัมเบอร์แลนด์ (Cumberland) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เยลโลว์ไนฟ์ เบย์ (Yellowknife Bay) ภายในหลุมเกล (Gale) ซึ่งสิ่งนี่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2013 นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหลุมแห่งนี้เป็นทะเลสาบเมื่อครั้งอดีตในช่วง 3 พันล้านปีก่อน และพบองค์ประกอบที่น่าสนใจที่พื้นหลุม เช่น แร่ดินเหนียว ซัลเฟอร์ และไนเตรต
จากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ จุดที่ควรจับตามองที่สุดไม่ใช่เพียงแค่การตรวจพบโมเลกุลเท่านั้น หากเป็นการแยกแยะว่าโมเลกุลเหล่านี้เป็นโมเลกุลที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตหรือเกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยากันแน่ เพราะโมเลกุลกรดไขมันอุนเดคาโนอิก, โดเดคาโนอิก และไตรเดคาโนอิก (Undecanoic, Dodecanoic และ Tridecanoic acid) ที่ถูกอนุมานว่าคือโครงสร้างต้นทางของโมเลกุลที่ตรวจพบ อาจจะเกิดจากทั้งสองกระบวนการได้ ดังนั้นการศึกษาการจำลองสภาพแวดล้อมของอ่าวเยลโลว์ไนฟ์ในห้องปฏิบัติการ และความน่าจะเป็นในการก่อตัวของกรดไขมันสายยาวภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย จึงเป็นการศึกษาต่อยอดเพื่อไขคำตอบของปริศนานี้
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือข้อจำกัดของเครื่องมือ SAM (Sample Analysis at Mars) อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ Curiosity ใช้เพื่อศึกษาตัวอย่างดินและพบกับสารประกอบที่น่าสนใจเหล่านี้ เครื่องมือ SAM ไม่สามารถตรวจจับโมเลกุลอินทรีย์สายยาวได้ทั้งหมด เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อการหาสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนและตรวจวัดสารประกอบหลังการเผาที่เป็นก๊าซอย่างออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ หรือมีเทน ดังนั้นหากมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่านี้อยู่จริงในตัวอย่าง มันก็อาจเล็ดลอดการตรวจจับได้ การพัฒนาเครื่องมือที่มีความไวและสามารถจัดการกับโมเลกุลที่ซับซ้อนขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ อีกวิธีการหนึ่งคือ การนำตัวอย่างจากดาวอังคารกลับมาบนโลกเพื่อวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการโดยตรง เพราะจะเปิดโอกาสให้ใช้เทคนิคระดับลึก เช่นการวิเคราะห์สัดส่วนไอโซโทปหรือโครมาโทกราฟีความละเอียดสูง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ไม่สามารถส่งไปยังดาวอังคารได้
เมื่อมองย้อนกลับไปที่คำถามใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ถามอยู่เสมอว่า “มีชีวิตเคยเกิดขึ้นบนดาวอังคารหรือไม่?” งานวิจัยนี้อาจยังไม่สามารถตอบคำถามนั้นได้ตรง ๆ แต่สิ่งที่แน่ชัดคือ ดาวอังคารมีองค์ประกอบทางเคมีและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการทดลองสมมติฐานเรื่องชีวิตจากดาวอื่น ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีก็ตาม และหากมีการนำตัวอย่างกลับมายังโลกในภารกิจ Mars Sample Return ภายในปลายทศวรรษนี้ ก็อาจเป็นก้าวที่ทำให้คำถามที่คาราคาซังที่ยาวนานเป็นศตวรรษก็จะได้คำตอบเสียที
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech