มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งระบุว่าการออกกำลังกายที่ออกแรงอย่างหนักภายใน 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอนอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนและสุขภาพหัวใจ เพราะทำให้หลับช้าลง เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจตอนกลางคืน และความแปรผันของอัตราการเต้นหัวใจ (HRV) ลดลง
การศึกษานี้ได้ติดตามประชาชนทั่วโลกที่ใช้อุปกรณ์สายรัดวีดชีพจรวูป สแตรป (WHOOP Strap) จำนวน 14,689 คน เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสูงถึง 4 ล้านคืน และเผยแพร่ผ่านวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา
จอช ลีโอตา จากคณะจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของผลการศึกษาฉบับนี้ กล่าวว่าการออกกำลังกายที่ออกแรงอย่างหนักในตอนกลางคืนอาจทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นตัวอย่างมาก โดยผลกระทบนี้อาจแทรกแซงความสามารถผ่อนคลายเพื่อการนอนหลับของร่างกาย
การออกกำลังกายประเภทการฝึกแบบหนักสลับเบา (HIIT) การเตะฟุตบอล หรือการวิ่งระยะไกล เป็นการออกกำลังกายอย่างหนักที่อาจส่งผลกระทบต่อการการนอนหลับมากที่สุดโดยไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ เพศ ระดับสมรรถภาพทางกาย และการนอนหลับของคืนก่อนหน้า
คณะนักวิจัยแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักภายใน 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และเลือกออกกำลังกายแบบเบา เช่น วิ่งเหยาะหรือว่ายน้ำช้า ๆ เพื่อลดทอนการรบกวนการนอนหลับ
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : nature, Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech