"เขาไม่ได้หลอก แต่แค่บอกไม่หมด" คำพูดของผู้เสียหายคนหนึ่ง ในคดี The iCON Group ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่กับพฤติกรรมเน้น "หาลูกข่าย" มากกว่า "ขายสินค้า" คดีประเภทนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานถึง 42 ปี หากนับจากมหากาพย์ คดีแชร์แม่ชม้อย ที่ชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุน ในปี 2525 จนถึงคดีล่าสุด "ดิไอคอน" 2567
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีประเภทนี้ สร้างความเสียหายให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ นับครั้งไม่ถ้วน เพียงแต่สินค้าที่บริษัทเหล่านี้ใช้นำเสนอ ในการทำธุรกิจส่วนใหญ่จะแปรเปลี่ยนตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มจาก น้ำมัน ข้าวสาร ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำมันหอมระเหย ทัวร์ญี่ปุ่น ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex-3D) ธุรกิจอาหารเสริม และเครื่องสำอาง
จากอดีต-ปัจจุบัน หากนับจำนวนคดีดังรูปแบบแชร์ลูกโซ่-ธุรกิจขายตรง ที่มีนัยแอบแฝงการทำธุรกิจ ในลักษณะฉ้อโกงประชาชน จะเห็นได้ว่ามีพฤติการณ์ทางคดีไม่ต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นคดีแชร์บลิสแพลน ปี 2534, คดีแชร์ลูกโซ่น้ำมันหอมระเหย ปี 2558, คดีซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex-3D) ปี 2558, คดีแชร์แม่มณี ปี 2562, คดีแม่ตั๊กฉ้อโกงประชาชน จากการไลฟ์สดหลอกขายทองคำ
คดีต่าง ๆ เหล่านี้ มีรูปแบบและวิธีการไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ทั้งใช้วิธีการขายตรงแบบชั้นเดียว ไม่ซับซ้อน และขายตรงแบบหลายชั้น โดยมีการกระทำผิดโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย และมีการซ่อนกลโกงแอบแฝงในลักษณะขายตรงแบบแชร์ลูกโซ่
สำหรับประเทศไทย พบว่า มีวิธีการขายตรง 2 รูปแบบ คือ ขายตรงแบบชั้นเดียว (Single Level Marketing) คือ ผู้จำหน่ายจะเน้นการนำสินค้าไปจำหน่ายให้กับ ผู้บริโภค เพื่อสร้างผลงานตามยอดขายที่บริษัทกำหนด โดยได้ผลตอบแทนตามเกณฑ์ของผลงานจากยอดขายสินค้าตามที่บริษัทกำหนด เช่น การทำธุรกิจของกลุ่มบริษัท มิสทีน กิฟฟารีน เอวอน
ส่วนขายตรงแบบหลายชั้น (Multi-Level Marketing) หรือที่เรียกว่าการสร้างเครือข่ายผู้ร่วมทำธุรกิจหรือสมาชิก โดยจะมีรายได้จากยอดจำหน่ายสินค้ารวมจากผลงานของตนเอง และทีมงาน ความแตกต่างระหว่างธุรกิจขายตรงกับธุรกิจแอบแฝง (ธุรโกง) ธุรกิจขายตรง รายได้หลักของสมาชิกมาจากการขายสินค้า การทำงาน การซื้อซ้ำของผู้บริโภค จ่ายค่าสมัครและซื้อสินค้าครั้งแรกในราคาที่เหมาะสม มีการรับประกันคุณภาพสินค้า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค บริษัทรับซื้อคืนสินค้าเมื่อสมาชิกต้องการลาออก
ขณะที่ธุรกิจแอบแฝง ที่มีการใช้กลโกงเข้ามาเกี่ยวข้อง จะพบว่า ส่วนใหญ่รายได้หลัก ๆ มาจากการชักชวนคน ระดมเครือข่ายสมาชิก แทนการขายสินค้า มีการจ่ายค่าสมัครและบังคับซื้อสินค้าราคาแพง หรือจำนวนมากเกินความจำเป็นในการบริโภค ไม่มีการรับประกันคุณภาพสินค้า เมื่อสมาชิกต้องการลาออก ไม่สามารถคืนสินค้า แผนการจ่ายผลตอบแทนดีอย่างเหลือเชื่อ
เน้นไม่ต้องทำงาน แต่รวยเร็ว ชักชวนคนเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ให้มาร่วมลงทุนแทนการให้ความรู้ เรื่องคุณภาพและการนำสินค้าไปสู่ผู้บริโภค เน้นการชักจูงให้สมาชิกซื้อสินค้าจำนวนมากเกินความ จำเป็นสำหรับการบริโภค ไม่ยึดมั่นในหลักการและจรรยาบรรณของนักขายตรงที่ดี หลบเลี่ยงกฎหมายดำเนินธุรกิจในลักษณะหลบเลี่ยงกฎหมาย
แทบทุกครั้งที่เกิดคดีในลักษณะขายตรงแบบแชร์ลูกโซ่ พบมูลค่าความเสียหาย สูงระดับหลักพัน และหมื่นล้าน เช่น คดีแชร์ลูกโซ่น้ำมันหอมระเหย มีผู้ตกเป็นเหยื่อ 10,000 ราย ความเสียหายมูลค่า 900 ล้านบาท, คดี Forex-3D มีผู้ตกเป็นเหยื่อ 9,824 คน มูลค่าเสียหายกว่า 40,000 ล้านบาท, และล่าสุด คดีดิไอคอน เบื้องต้น ผู้มีเสียหายกว่า 1,000 คน ความเสียหายอยู่ในหลักพันล้าน
โดยผู้กระทำความผิดและผู้ร่วมขบวนการ อาจจะถูกแจ้งข้อหาต่างกรรม ต่างวาระกันไป เช่น คดีฉ้อโกงประชาชน, การนำเข้าระบบข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์, การฟอกเงิน และ การทำธุรกิจที่อาจเข้าข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัจจุบัน พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้ล้าสมัยในบริบทปัจจุบัน แต่การบังคับใช้กฎหมาย หรือในภาคปฏิบัติต้องไปดู เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก สศค.เป็นผู้ร่างกฎหมาย แต่เมื่อร่างเสร็จแล้ว กฎหมายฉบับนี้ไม่ควรมาอยู่ที่ สศค. เพราะเป็นหน่วยงานด้านนโยบาย ไม่ใช่หน่วยงานปฏิบัติ
"เราถือกฎหมาย แต่อำนาจสืบสวนสอบสวนต้องเป็นตำรวจ หรือดีเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้เสียหายโดยตรง เช่น ดีเอสไอ ควรจะนำกฎหมายไปถือไว้โดยตรงที่กระทรวงยุติธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาร้องทุกข์ด้วย ทุกครั้งที่มีผู้เสียหายเกิดขึ้น ไม่เคยมีใครเดินมาร้องทุกข์ที่ สศค. เป็นที่แรก เขาต้องไปหาตำรวจ ดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม หรือ สคบ.ก่อน"
ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กฎหมาย พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ นั้น สามารถปรับไปให้หน่วยงานอื่นดูแลได้ เช่น กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ ทาง สศค.เป็นผู้ยกร่างให้ในช่วง 4-5 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนให้การทำธุรกิจคล่องตัวขึ้น แต่ในภาคปฏิบัติ หน่วยงานที่กำกับดูแลกฎหมายนี้ คือ กรมที่ดิน คือ กระทรวงการคลัง เป็นผู้ยกร่างกฎหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายคือ รมว.มหาดไทย
สำหรับ พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ปัจจุบัน สศค.จะเข้าไปช่วยในชั้นศาล ว่าการดำเนินการเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายอาจจะยังมีช่องว่างอยู่ จึงต้องเข้าไปดูว่า ทำอย่างไรจึงจะให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัท ดิ ไอคอนกรุ๊ป จำกัด ทำผิดกฎหมาย การแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ต้องดูหลักฐานการสอบสวนว่ารายละเอียดธุรกิจเป็นอย่างไร เข้าเกณฑ์ความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ หรือไม่
มีข้อมูลจากทีมนักวิจัย กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยถอดรหัส 25 กลโกง เมื่อเดือนมี.ค.2566 ไว้ในโครงการวิจัย ดีเอสไอ นวัตกรรมการป้องกัน แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ แจ้งเตือนประชาชนรู้เท่าทันภัยใกล้ตัว โดยเฉพาะพฤติกรรมและรูปแบบการหลอกลวงของเหล่ามิจฉาชีพแชร์ลูกโซ่แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อรับมือคนร้ายที่แฝงตัวเข้ามาชักชวนและทำธุรกิจประเภทนี้ คือ
1.หลอกให้เกิดความอยากได้ โดยการใช้ผลตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ/ล่อใจ ว่ามีการให้ ผลตอบแทน กำไร การปันผล ในจำนวนเงินที่สูงเกินความเป็นจริง
2.เชิญชวนโดยทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตนี้โชคดีเหลือเกินที่ได้มาพบเจอบริษัทหรือกิจการนั้น ๆ
3.ใช้วิธีโชว์สร้างภาพความรวย โชว์การใช้ชีวิตหรูหรา (กินหรูอยู่สบาย) ใช้รถหรูบ้านหรู โชว์เงินสดจำนวนมากเป็นปึก ๆ
4.สร้างภาพให้เห็นว่า บริษัทหรือกิจการนั้น ๆ มีความน่าเชื่อถือ เป็นอย่างมาก ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในเวลาอันรวดเร็ว แบบก้าวกระโดดหรือแบบฉับพลัน
5.ทำให้รู้สึกและเข้าใจว่า ลงทุนกับบริษัทหรือกิจการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อายุน้อยพันล้าน เป็นต้น
6.เชิญชวนให้เข้าร่วมงานสัมมนา แสดงให้เห็นแผนธุรกิจ ที่สามารถทำให้ลงทุนแล้วเติบโตอย่างรวดเร็ว กำไรงาม
7.การสร้างภาพว่าเป็นกิจการที่ช่วยเหลือสังคม ได้รับรางวัลมากมาย
8.มีการรับประกัน (guarantee) ว่า เมื่อลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทน 100% ไม่มีเสียโอกาส หรือไม่มีการขาดทุนเด็ดขาด
9.เชิญชวน หากชอบทำงานสบาย งานง่าย ๆ ไม่ลำบาก ไม่ยาก ทำงานได้โดยไม่กระทบต่องานประจำที่ทำอยู่ ลงทุนน้อย ได้รับผลตอบแทนสูง และได้รับแน่นอน ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ทั้งสิ้น
10.โฆษณาเป็นการทำธุรกิจแนวใหม่ หรือลงทุนแบบใหม่ (Start Up) ในสินทรัพย์, หลักทรัพย์ตัวใหม่, สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความทันสมัย มีแนวโน้มหรือเทรน (Trend) มาแรง ผลตอบแทนสูง
11.มีการแสดงให้เห็นว่า เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกกับบริษัทหรือกิจการของเขาแล้วจะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม
12.จูงใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณาเชิญชวน ในอัตราที่สูง โดยจ่ายแค่ครั้งแรก ๆ ก่อนที่จะหอบเงินเหยื่อหนีหายไป
13.อ้างว่า ต้องใช้สกุลเงินดิจิทัลในการลงทุนและต้องเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ในการลงทุน สุดท้ายก็เชิดหนี
14. แอบอ้าง มีการจัดตั้งบริษัทหรือกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงยังไม่ได้รับการอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.), หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
15.หลอกให้โอนเงินไปลงทุน แล้วจูงใจแจ้งว่า รอรับผลตอบแทนอย่างเดียวไม่มีขาดทุน
16.ให้เชิญชวนบุคคลอื่น แล้วให้ค่าแนะนำ เชิญชวนบุคคลอื่นมาเข้าร่วมในลักษณะแม่ทีม-ลูกทีม
17.ชวนให้เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว หรือในโซเชียลมีเดีย (Social Media) เช่น การชวนเข้าไลน์ (Line) เฟซบุ๊ก (Facebook) กลุ่มที่เป็นห้องลับ, ห้องสนทนาส่วนตัว ที่มีแต่ทีมมิจฉาชีพเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ เพื่อชักจูงให้เกิดความอยากลงทุน ได้รับผลตอบแทนสูง ๆ
18.อุปโลกน์ตัวอย่างผู้ที่ได้รับผลตอบแทนเพื่อจูงใจ ให้เห็นว่าได้รับผลตอบแทนสูงจริง
19.เปิดให้ทุกคนเข้ามาลงทุน, เป็นสมาชิกในบริษัทหรือกิจการไม่อั้น ไม่จำกัดจำนวน, ไม่จำกัดสถานสภาพ, อายุ และใคร ๆ ก็สามารถนำเงินมาลงทุนได้
20.มีการแอบอ้างว่า มีการจดทะเบียนหรือร่วมลงทุน หรือนำเงินไปลงทุนกับธุรกิจ ที่อยู่ในต่างประเทศ
21.มีการแสดงให้เห็นว่า มีบริษัทหรือกิจการในเครืออีกหลายแห่ง เพื่อให้เห็นว่ามีธุรกิจและเครือข่ายกว้างขวาง
22.มีวิธีการทำให้เราตรวจสอบทางการเงินไม่ได้ มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ทำให้งง และให้เข้าใจว่า สาเหตุที่คนอื่น ๆ ที่เข้ามาลงทุนร่ำรวยมากขึ้นเพราะเกิดจากการเข้ามาลงทุน
23.อาจอ้างว่าจะมีการนำเงินสด (เงินบาท) ของเรา ไปลงทุน, แลกเปลี่ยนเป็นหน่วยลงทุนที่บริษัทหรือกิจการกำหนดขึ้นมาเอง (เอาเงินจริงไปแลกเป็นเงินสมมติที่ทางเขากำหนดขึ้นมา)
24.สร้างโปรแกรมสำเร็จรูปซึ่งเหมือนจริงทุกประการ มาเป็นหน้าจอแสดงผลหรือรายงานผลการลงทุน ผลตอบแทน มีการแสดงกราฟแบบเรียลไทม์ (Real Time) ดูเหมือนจริงโดยไม่มีที่ติ
25. ช้ให้ชักชวนคนใกล้ชิดหรือคนสนิท เช่น คนในครอบครัว พี่น้อง ญาติ หรือ เพื่อน ว่าเข้ามาลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนสูง ลองเข้ามาคุยด้วยกัน
ทั้งหมดนี้ เป็นกลอุบายที่เหล่าบรรดาเหล่า "บอส" และหัวขบวนทั้งหลาย ที่อุปโลกน์ตนเป็นนักธุรกิจ CEO อายุน้อยที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อหลอกล่อเหยื่อให้เข้ามาติดกับดัก
อ่านข่าว :
ผบ.ตร.สั่งทั่วประเทศ เปิดรับแจ้งความ “คดีดิไอคอน”