อนาคต คน-เมือง-ลิง เปิดเส้นทางวิถีชีวิตคู่ขนานของ คน เมือง และลิง จังหวัดลพบุรี หลังความพยายามแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันอย่างมีสัดส่วน - ตอนที่ 1 เปิดความสัมพันธ์ลิง-คนอยู่คู่เมืองละโว้ 50 ปี ลิงกับเมืองลพบุรีอยู่คู่กันมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ทำให้ลิงเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัด แต่เมื่อลิงเพิ่มจำนวนประชากร ไร้การควบคุม ทำให้ความสัมพันธ์คนกับลิงไม่เหมือนเดิม ในอนาคต คน เมือง ลิง อยู่ ร่วมกันได้ไหม ThaiPBS จะพาไปหาคำตอบนี้ - ตอนที่ 2 หาสมดุล “เด็กกับลิง” พื้นที่โรงเรียนที่อยู่ใกล้กับพระปรางค์สามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี ยังมีลิงหลายตัวเข้ามาหลบซ่อนอยู่ แม้จะมีการจัดการปัญหาลิงภายนอกโรงเรียนจำนวนมากแล้ว ซึ่งลิงกลุ่มนี้เข้ามารบกวนนักเรียน รวมถึงสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของโรงเรียนและอาคารเรียน - ตอนที่ 3 ทางออก ความฝัน ลิงเมือง การจับลิงออกจากเมืองกว่า 1,000 ตัว แม้เป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่สุดในการกู้ย่านเมืองเก่าลพบุรี จากการครองอาณาจักรของฝูงลิงมาหลายสิบปี แต่นั่นก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ที่ต้องการเหลือลิงให้เป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวเพียงหลักร้อยตัว ข้อจำกัดสำคัญคือสถานที่รองรับลิง เมื่อถูกจับไปแล้ว ไม่มีที่รับเลี้ยง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าในจังหวัดจึงถูกมองเป็นที่รองรับหลักในอนาคต และ ถือเป็นบั้นปลายชีวิตของลิงเหล่านี้ที่มีโอกาสคืนสู่ธรรมชาติ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ - ตอนที่ 4 ฟื้นเศรษฐกิจ ความหวัง คนเมืองลิง ลิงหายไปเป็นหลักพันตัว อาจยังไม่ใช่คำตอบว่า เศรษฐกิจเมืองลพบุรีจะกลับมาฟื้นฟูทันทีหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด วิถีชีวิตผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป การท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมามีชีวิต ร้านอาหารไม่ต้องคอยหวาดระแวงกับการที่ถูกลิงรบกวน
แผนการจับลิงตึกลพบุรี 10 วัน 800 ตัว เป็นไปตามแผนใหญ่ที่วางกรอบตามพื้นที่กรงในสวนลิง ตำบลโพธิ์เก้าต้น ว่ารอบรับลิงได้ประมาณ 1,000 ตัว แต่เป็นที่รู้กันดีว่า ลิงในเขตเมืองเก่าลพบุรีมีเกือบ 3,000 ตัว ดังนั้นปัญหาลิงแสมในตัวเมือง ไม่จบง่าย ๆ แน่นอน แนวคิดใหม่ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับ เทศบาลเมืองลพบุรี จึงขยายเฟสต่อ และโปรเจ็กต์นี้ต้องการลดประชากรลิง ให้เหลือแค่จำนวนหลักร้อยตัว ติดตามจากรายงานคุณ ภควัต โฉมศรี
วันนี้ (13 มิ.ย. 67) ปฏิบัติการปิดเมืองจับ “ลิงลพบุรี” เข้าสู่วันที่ 9 เริ่มจับลิงได้ยากขึ้น เพราะลิงเรียนรู้และจำชุดเจ้าหน้าที่ได้ ผลปรากฏว่าวานนี้ เจ้าหน้าที่ต้องปรับแผนการทำงาน ปลอมตัวแต่งกายนอกเครื่องแบบ เลิกใช้วิธีการยิงยาสลบ รวมทั้งเคลื่อนย้ายกรงดักจับลิง จากที่เคยวางไว้ตามฟุตปาธ นำไปไว้บนตัวอาคาร ตามกันสาด หรือตามซอกตึกด้านบนแทน
ภารกิจจับลิงเมืองลพบุรีฝูงใหญ่ เป้าหมาย 800-1,000 ตัว จนถึงวันที่ 15 มิ.ย. 67 วันนี้ (6 มิ.ย. 67) เป็นปฏิบัติการวันที่ 2 หลังจากวันแรกจับลิงไปได้เกือบ 200 ตัว โดยหลังจากจบปฏิบัติการ ทางเทศบาลเมืองลพบุรี จะเริ่มทำความสะอาดตึกริมถนนปรางค์สามยอด รวมถึงทางเท้า และพื้นที่อื่น ๆ จากนั้นวันที่ 18 มิ.ย. จะเริ่มทาสีตึก เพื่อให้มีสีสันสวยงาม ไทยพีบีเอสสอบถามความเห็นชาวเมืองลพบุรี ย่านถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่มีฝูงลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก และเป็นย่านการค้าที่ยังค้าขายได้ และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนในย่านนี้ นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ พวกเขาสะท้อนปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอุจจาระของลิง ที่ส่งกลิ่นเหม็นเข้าไปถึงในตัวบ้าน จนไม่สามารถเปิดหน้าต่างได้ และบ้านกลายเป็นพื้นที่อับอากาศ ปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไข
ภารกิจจับลิงในเมืองลพบุรีเริ่มขึ้นอีกครั้ง วันนี้ (5 มิ.ย. 67) เป็นปฏิบัติการวันแรก ไปจนถึงวันที่ 15 มิ.ย. ครั้งนี้ตั้งเป้าหมายจับลิงให้ได้ 800 ตัว นับเป็นการจับลิงล็อตที่ใหญ่ที่สุด หากเทียบกับภารกิจที่ผ่าน ๆ มา ปฏิบัติการตลอด 1 เดือนกว่า จับได้ประมาณ 1,000 กว่าตัว ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ จำนวนลิงที่จับได้ จะมีกรงเพียงพอที่จะรองรับหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีเพียงแห่งเดียวที่สามารถรองรับได้ คือกรงอนุบาลลิงโพธิ์เก้าต้น ของเทศบาลเมืองลพบุรี สามารถรองรับลิงได้ไม่เกิน 2,000 ตัว ปัจจุบันมีลิงเข้าไปอยู่แล้ว 288 ตัว ซึ่งหากรวมกับยอดที่กำลังจะจับครั้งนี้ อาจเกิน 1,000 ตัว
วันนี้ (28 พ.ค. 67) ปฏิบัติการจับลิงตึก กลางเมืองลพบุรี ตลอด 5 วัน จับลิงได้ทั้งหมด 288 ตัว โดยลิงทุกตัวถูกส่งไปยังโรงพยาบาลสนามเพื่อวางยาสลบ ชั่งน้ำหนัก เก็บตัวอย่างเลือด สักทำสัญลักษณ์ประจำตัวลิง ขึ้นทะเบียนประวัติ และทำหมัน ก่อนปล่อยเข้ากรงในสวนลิงโพธิ์เก้าต้น ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่า ลิงที่ถูกจับได้จะถูกปรับพฤติกรรมใหม่ในกรง โดยเฉพาะอาหารเพื่อเรียนรู้อาหารจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ และแมลง เพราะอนาคตกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแผนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยมองเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ อำเภอชัยบาดาลไว้ แต่ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และสร้างรั้วล้อมเขตให้เสร็จก่อน