"ภูมิธรรม" ลงพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด ยืนยันกัมพูชา ไม่เคลม และยอมรับว่าเป็นดินแดนไทย ให้กำลังใจกำลังพล ย้ำเกาะกูดเป็นของไทย ขอให้กลุ่มการเมืองคำนึงถึงประโยชน์ชาติ ขณะที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบที่พัก บางแห่งถูกยกเลิกการจองกว่าร้อยละ 50
MOU 44 กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อวางกรอบในการพูดคุยเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการด้านเทคนิคที่แต่ละประเทศตั้งขึ้น ซึ่งมีหัวข้อว่าจะมีแนวทางในการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเลอย่างไร ซึ่งเราต้องหาวิธีนำขึ้นมาใช้เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน จึงต้องตั้งคณะกรรมการทั้งสองประเทศขึ้นมาคุยกัน แต่ต้องยึดหลักสากล เรื่องเขตทางทะเลว่าจะขีดเขตทางทะเลออกไปอย่างไร จึงเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ทั้งสองประเทศจะตั้งขึ้นมาแล้วพูดคุยกัน
วันนี้ (11 พ.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีการเจรจา MOU44 ไทย-กัมพูชา ว่ารัฐบาลจะพยายามเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ในทะเลไทย-กัมพูชาตามกรอบ MOU2544 ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของคณะกรรมการ JTC จะไม่ยืดเยื้อ และไม่สะดุด ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายอย่าทำเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นทางการเมือง กลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์ขอให้จบได้แล้ว ก่อนปฏิเสธกระแสข่าว นายทักษิณ ชินวัตร โทรศัพท์พูดคุยกับ สมเด็จฮุน เซน เพื่อแบ่งผลโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิ์ในทะเล ก่อนย้ำว่าไม่มีดีลลับใด ๆ ทั้งสิ้น ด้วยอ้างอิงว่า นายทักษิณ ไม่ได้มีบทบาท-หน้าที่ จะเข้าดีลลับได้อย่างไร ดังนั้นเรื่องนี้ขอให้จบได้แล้ว
กรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ MOU44 ระหว่างไทย-กัมพูชา อาจทำให้ไทยเสียดินแดนทางทะเลหรือไม่ ซึ่งล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมตั้งทีม JTC เพื่อเจรจา โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนกลางเดือน พ.ย.นี้นั้น ทำไมกรณี MOU44 ยิ่งมีคนออกมาแสดงความคิดเห็นมากเท่าใด ยิ่งดีกับประเทศไทย ฟังวิเคราะห์จาก สุทธิชัย หยุ่น, อาจารย์วีระ ธีรภัทร และวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์
ตามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้าตั้งทีม JTC เพื่อเจรจา MOU 44 ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนกลางเดือน พ.ย.นี้นั้น ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องเขตแดนจากสถาบันปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ก่อนที่รัฐบาลจะพูดคุยกับกัมพูชา รัฐบาลน่าจะทำความเข้าใจกับคนในประเทศก่อน และนำเรื่องเข้าสภาฯ อธิบายถึงเหตุผลความจำเป็น และสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ โดยทำเป็นวงพูดคุยแบบปิด ไม่ให้เรื่องละเอียดอ่อนที่เป็นความลับรั่วไหลออกไป
นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ไปที่เกาะกูดแถลงเปิดแคมเปญรวบรวมรายชื่อ 100,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 เพื่อปกป้องดินแดนทางทะเลเกาะกูด และสมบัติชาติ ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คาดการณ์ว่า กลางเดือนนี้ จะจัดตั้ง JTC สำเร็จ พร้อมยืนยันว่า ฝ่ายกัมพูชา แสดงความพร้อมที่จะเจรจา ด้วยความประนีประนอมต่อกัน
วันนี้ (6 พ.ย. 67) ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เตือนรัฐบาลไทยต้องระวัง #MOU44 ระหว่าง #ไทย #กัมพูชา โดยเฉพาะหลักฐานจากการแบ่งปันผลประโยชน์ เมื่อใดขุดน้ำมันได้และมีการแบ่งเงินกันคนละ 50% จะเป็นหลักฐานในอีก 30-40 ปีข้างหน้าที่น้ำมันหมดไปให้ศาลโลก
วันนี้ (5 พ.ย. 67) นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกต MOU44 ระหว่างไทย-กัมพูชา แม้รัฐบาล นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จะออกมายืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย แต่นายคำนูญก็สงสัยว่าแล้วพื้นที่ทางทะเลรอบเกาะกูดเป็นของไทยด้วยหรือไม่ เพราะมองว่าไทยควรต้องเป็นเจ้าของด้วย นายคำนูณยังตั้งข้อสงสัยการไปยอมรับเส้นเขตแบ่งปันผลประโยชน์ไทย-กัมพูชา ใต้เส้น 11 องศา ไปทางตะวันตก ใน #MOU44 ซึ่งมีพื้นที่กว้างมาก การยอมรับดังกล่าวอาจทำให้ไทยเสียผลประโยชน์ในอนาคต กรณีหากรุ่นลูกหลานจะเจรจาเขตแดน แต่พบว่ารุ่นบรรพบุรุษไปยอมรับเขตแบ่งปันผลประโยชน์แล้ว
ปมปัญหาเรื่องเกาะกูด หากไม่นับในสื่อออนไลน์ที่เริ่มพูดถึงกันมาสักพัก ยังถูกกล่าวถึงอย่างชัดเจน ในการแถลงข่าวของพรรคพลังประชารัฐสัปดาห์ก่อน ในวันที่โยนระเบิดปมคดีดิไอคอนกลับไปยังพรรคเพื่อไทย พวกเขายังพ่วงเรื่องอำนาจอธิไตยทางทะเล เกาะกูด และพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมา จนนำไปสู่กระแสวิจารณ์กว้างขวางมากขึ้น หลังการประชุมนัดพิเศษเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (4 พ.ย. 67) นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ยืนยันว่า ใน MOU 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเกาะกูด ไม่ได้เป็นการถกเถียงเรื่องเกาะกูด
กรณี MOU44 ระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา เมื่อปี 2544 ที่ขณะนี้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจทำให้ไทยเสียดินแดนบริเวณเกาะกูดหรือไม่ เพราะกัมพูชาลากเส้นเขตแดนทับเกาะกูด รศ. ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ มองว่าเรื่องนี้มีความล่อแหลม ไทยมีมุมที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกรณีเขาพระวิหาร แต่สำคัญที่สุดคือ ทั้ง 2 ประเทศควรเดินหน้าร่วมกันพัฒนาเรื่องพลังงาน