ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รัฐบาลเริ่มแจกบัตรเครดิตชาวนา

29 ก.ค. 55
14:53
32
Logo Thai PBS
รัฐบาลเริ่มแจกบัตรเครดิตชาวนา

โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร หรือบัตรเครดิตชาวนานั้นเป็นหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่มีการหาเสียงไว้เพื่อโดยหวังจะให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งนักวิชาการบางรายแสดงความเป็นห่วงว่าโครงการนี้อาจจะทำให้ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการไม่ระมัดระวังค่าใช้จ่าย

วันนี้ เป็นวันแรกที่รัฐบาลเปิดตัวโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร หรือบัตรเครดิตชาวนาอย่างเป็นทางการให้กับชาวนาในพื้นที่ภาคอีสาน เป้าหมายของโครงการนี้ รัฐบาลระบุว่าต้องการให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยนำไปซื้อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพราคาเป็นธรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต และแบ่งเบาภาระด้านการเงินของเกษตรกร

นายบุญช่วย เจียดำรงค์ชัย รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.กล่าวว่า ขณะนี้พร้อมแจกบัตรให้กับเกษตรกรเพื่อให้ทันกับการปลูกข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะเริ่ม ในระยะแรกรัฐบาลนำร่องจัดทำบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวก่อนเพื่อให้สามารถซื้อปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง

ส่วนระยะต่อไปได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ขยายการจัดทำบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปยังเกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และสามารถใช้บัตรเครดิตซื้อปัจจัยการผลิตอื่นได้หลากหลาย และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธ.ก.ส.พร้อมที่จะส่งมอบบัตรให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าจำนวนกว่า 800,000 ใบ ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ และส่วนที่เหลืออีกกว่า 1,100,000 ใบ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเพื่อออกบัตรสินเชื่อเพิ่มเติม โดย ธ.ก.ส.คาดว่าจะแจกบัตรให้ครบ 2,000,000 ใบในปีนี้

นอกจากนี้ จะเร่งขยายติดตั้งเครื่องรูดบัตรอีดีซีให้ครบ 3,000 เครื่องภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้บัตรได้สะดวกมากขึ้น ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ได้นำร่องแจกบัตรสินเชื่อเกษตกรในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี อุดรธานี และ เชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 5,522 ราย

สำหรับเงื่อนไขของการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรจะต้องเป็นชาวนาที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.ไม่มีหนี้ค้างชำระ/วงเงินสินเชื่อในบัตรไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7 ต่อปี หากเกินระยะเวลาที่กำหนดไปแล้วชาวนาต้องรับผิดชอบดอกเบี้ย และส่วนต่างเงินค่าปรับร้อยละ 13 ต่อปี

รองศาสตราจารย์สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ แสดงความเป็นห่วงว่าโครงการนี้อาจจะทำให้เกษตรกรรายย่อยอาจมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการไม่ระมัดระวังค่าใช้จ่าย เนื่องจากชาวนาแต่ละรายมีศักยภาพในการบริหารสินเชื่อที่แตกต่างกัน เมื่อชาวนาบางรายไม่มีสามารถชำระหนี้ได้จะเป็นภาระกลับคืนสู่รัฐบาลที่ต้องนำเงินภาษีไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอีก
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง