ไทยช่วงนี้ยังมีฝนตกกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง
สภาพอากาศประเทศไทยขณะนี้ยังเผชิญกับอิทธิพลร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนกระจายถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งเมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) แจ้งเตือนภัยให้อพยพในพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดระนอง ซึ่งอาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
โดยสาเหตุที่ทำให้ในช่วงนี้ภาคใต้ มีฝนตกหนักติดต่อกัน เพราะมรสุมตะวันเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น แนวลมจากมหาสมุทรอินเดีย และทะเลอันดามัน พุ่งเข้าหาพายุเทมบิง และพายุอีกลูกที่กำลังติดตามคือ โบลาเวน พายุทั้ง 2 ลูกนี่ส่งผลทางอ้อมให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้แรงขึ้น ส่งผลให้จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดพังงา, จังหวัดกระบี่, จังหวัดระนอง มีฝนตกหนัก
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภูเก็ตกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว หลังจากที่ฝนหยุดตก และน้ำทะเลไม่หนุนสูง แต่อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักอีกครั้งในจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วง 3-4 วันนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังต่อไป
ด้านสถานการณ์น้ำในจังหวัดภาคเหนือ ฝนที่ยังคงตกหนักในบางพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่า และ น้ำท่วมฉับพลันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอปาย หลังแม่น้ำปายเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่จังหวัดตากเนื่องจากในช่วงหลายวันที่ผ่านมาจะมีฝนตกต่อเนื่อง แต่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา เพียง 19 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น ขณะที่เขื่อนภูมิพลระบายน้ำออกวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนายณรงค์ ไทยประยูร ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลกักเก็บน้ำไว้ 6,388 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 47.44 ของความจุเขื่อน ซึ่งสามารถรับน้ำได้อีก 7,074 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะที่สถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดนครราชสีมา ผู้รับเหมาเร่งก่อสร้างคลองผันน้ำ เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนถึงฤดูน้ำหลาก รองรับน้ำจากลำตะคอง และระบายลงสู่บึงพุดซา ซึ่งเป็นเส้นทางบายพาสน้ำที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยงบประมาณกว่า 230 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมในเขตเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมา ซ้ำรอยเมื่อปี 2553 รวมถึงการติดตั้ง เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ที่ตำบลสีมุม อำเภอเมืองนครราชสีมา สำหรับการรายงานไปยังศูนย์วิเคราะห์ประมวลสถานการณ์น้ำที่สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ทุกวัน เพื่อให้วางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง
นอกจากการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำฝน หลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังเผชิญภัยแล้งที่ยังคงขยายวงกว้าง ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง และภาวะน้ำในเขื่อนลำปาว มีปริมาณการกักเก็บอยู่ที่ 470 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 25 ซึ่งแม้จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่เจ้าหน้าที่ยังคงระบายน้ำวันละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร