ภาคเอกชนแนะศึกษา "กฎหมาย-วัฒนธรรม" ก่อนลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน

เศรษฐกิจ
27 ส.ค. 55
14:13
20
Logo Thai PBS
ภาคเอกชนแนะศึกษา "กฎหมาย-วัฒนธรรม" ก่อนลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน

ภาคเอกชน แนะแนวทางลงทุนในต่างประเทศ ระบุต้องศึกษา "กฎหมาย-วัฒนธรรม" ก่อนเริ่มลงทุนประกอบกิจการในต่างแดน ขณะที่ผู้ประกอบการด้านอาหาร เชื่อประเทศกลุ่มอาเซียนก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว จี้รัฐปิดช่องโหว่ด้านกฎหมาย ภาษี ข้อตกลงการค้าหนุนนักธุรกิจประกอบธุรกิจได้สะดวก ด้านผู้ประกอบการโลจิสติกส์ แนะรัฐผลักดันการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเอื้อขนส่งสะดวก

วันนี้ (27 ส.ค.)กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ จัดงานโลจิสติกส์ เอกเซอแลนซ์ เทรนนิ่ง 2012 (Logistics Excellence Training 2012) เพื่ออบรมสัมมนาแก่ผู้ประกอบการค้า ต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี โดยภายในงานมีการเสวนาเรื่อง เทรด แอนด์ โลจิสติกส์ สปริงบอร์ด ทู เออีซี โกรว์อิ้ง มาร์เก็ต(Trade&Logistics Springboard to AEC Growing Market) : มองอย่างเซียน เจาะลึกธุรกิจพิชิตตลาด เออีซี เป็นการเล่าประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศของ 4 หน่วยงาน 4 ประเภทการประกอบการเอกชนด้วยกัน ได้แก่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล, นายสนั่น อังอุบลกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายเกริกกล้า สนธิมาศ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บ.เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล(ประเทศไทย) จำกัด

มิตรผล แนะ ลงทุน "ลาว" ต้องเข้าใจวัฒนธรรม

โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลส่งออก ให้ประสบการณ์การลงทุนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่า จะต้องทำความเข้าใจทั้งกฎหมายและวัฒนธรรม ศึกษาข้อมูลการทำธุรกิจในประเทศนั้นๆเอง เช่น การซื้อที่ดินเพื่อการปลูกอ้อย ผู้ประกอบการต้องไปหาที่ดินเองว่าตรงไหนเป็นที่ว่าง เพราะทางการจะไม่มีข้อมูลมาให้ การดำเนินการตามกฎหมายเพื่อถือสิทธิ์ครอบครอง หากมีการฟ้องร้องก็ต้องดำเนินตามกฎหมายของลาว

นายอิสระ กล่าวเสริมว่า ในช่วงแรกของการเปิดโรงงานน้ำตาลจะยังคงมีปัญหา เนื่องจากประเทศลาวยังไม่ใช่สังคมอุตสาหกรรม แรงงานยังไม่คุ้นชินกับระบบงานเป็นกะ คือการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ใน 1 วันมี 3 กะ ได้แก่ เวลา 08.00-16.00 น. 16.00-24.00 น. และ 00.00-08.00 น. ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานในช่วงกะที่ 3 จะไม่มีพนักงานมาทำงาน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับแรงงาน รวมถึงการเตรียมพร้อมด้วยการอบรมพนักงานคนไทยที่ไปปฏิบัติงานในประเทศลาวเพื่อดูแลพนักงาน ทั้งการใช้คำพูด การกระทำ เพราะเรื่องของความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผลยังดำเนินธุรกิจในประเทศพม่า และกัมพูชาอีกด้วย

"ซีพี" ชี้เปิด AEC ไทยเสียเปรียบต้นทุน-การแข่งขัน

ขณะที่นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย และที่ปรึกษาอาวุโส บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในวันที่ 1 ม.ค. 2015 จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เพราะทุกวันนี้มีการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว และประเทศไทยเองก็ลดภาษีลงเหลือ 0% เกือบทั้งหมดแล้ว และต้องหันมามองช่องโหว่ที่อาจส่งผลเสียกับประเทศ เช่น ภาษี กฎหมาย ข้อตกลงทางการค้า สิ่งที่นักธุรกิจต้องเรียนรู้ การส่งเสริมจากภาครัฐ และต้นทุนแหล่งกำเนิดสินค้าว่าเป็นอย่างไร ได้รับการสนับสนุนให้ต้นทุนการผลิตลดลงจนแข่งขันได้หรือไม่ เช่น ภาคการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องจัดการห่วงโซ่การผลิต คือ การส่งออกสินค้าประเภทหนึ่ง ไม่ใช่แค่บริษัทของตนเองเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลควบคุมกลุ่มผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพราะการรวมสู่ประชาคมอาเซียนทุกประเทศจะเป็นหนึ่งเดียวกัน

เอเวอร์กรีนจี้่รัฐเร่งส่งเสริมโลจิสติกส์ ก่อนเข้า AEC

เช่นเดียวกับนายเกริกกล้า สนธิมาศ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บ.เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล(ประเทศไทย) จำกัด ที่เน้นความต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศในการพัฒนาระบบขนส่งคมนาคม เช่นการสร้างถนน และจุดพักรถ เพื่อช่วยในการคมนาคมขนส่งสินค้า พร้อมกับย้ำว่า ผู้ประกอบการที่ดีจะต้องมีมาตรฐานที่สูงขึ้น และทุกประเทศจะต้องพัฒนาร่วมกันในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง