ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รัฐออกกฎหมายจัดเก็บค่ากำจัดขยะ เปิดทางแต่ละท้องถิ่นบริหารจัดการเอง

3 พ.ค. 58
15:05
13,050
Logo Thai PBS
รัฐออกกฎหมายจัดเก็บค่ากำจัดขยะ เปิดทางแต่ละท้องถิ่นบริหารจัดการเอง

รัฐเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย หากปริมาณขยะของครัวเรือนน้อยกว่า 150 กิโลกรัมต่อเดือน จะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนลดการใช้ขยะ และหันมาคัดแยกขยะรีไซเคิล เปิดช่องให้แต่ละท้องถิ่นในพื้นที่ทั่วประเทศเข้าไปบริหารจัดการเอง

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการในการจัดการบังคับใช้มาเป็นเวลานานแล้ว และไม่ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการในการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ทำให้ราชการส่วนท้องถิ่นไม่สามารถเก็บค่าบริการในการกำจัดได้ โดยปัจจุบันเรียกเก็บได้เฉพาะค่าบริการเก็บ ขน สิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยเท่านั้น

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย อธิบายรายละเอียดว่า กฎหมายฉบับนี้มีจุดประสงค์ไม่ต้องการเก็บเงินเป็นหลัก แต่ออกมาเพื่อให้ประชาชนลดการใช้ขยะในบ้านเรือน และคัดแยกขยะรีไซเคิลไปขาย ซึ่งในปัจจุบัน ประชาชนเริ่มตื่นตัวมากในเรื่องเก็บค่ากำจัดขยะ เบื้องต้น แต่ละท้องถิ่นอาจจะใช้วิธีการกำหนดถังขยะภายในครัวเรือนเป็นขนาด 5 กิโลกรัมตต่อวัน หรือครัวเรือนละ 150 กิโลกรัมต่อเดือน ถ้าเกินจากที่กำหนดไว้อาจจะต้องเสียเงิน แต่ถ้าไม่เกินอาจจะไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนพยายามทำให้ปริมาณขยะไม่เกินกำหนดไว้

ทั้งนี้ กฎหมายนี้จะบังคับใช้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทุกเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องไปประชุมกับประชาชนว่าจะตกลงจัดเก็บค่ากำจัดขยะหรือไม่เก็บก็ได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น ถ้าประชุมแล้วไม่เก็บค่ากำจัดขยะ 150 บาท เป็นเรื่องของเทศบาล อบต.หาเงินไปฝังกลบ เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฏกระทรวงออกมาพร้อมกับกฎหมายอีกฉบับที่ระบุว่าหน้าที่ของเทศบาล อบต.ต้องนำขยะไปฝังกลบ หรือเผาให้ถูกต้อง จะนำไปกองไว้ไม่ได้ เนื่องจากผิดกฎหมาย

ส่วนในปัจจุบันที่ อบต.หลายแห่งจัดเก็บเดือนละ 20 บาทต่อครัวเรือนนั้นเป็นค่าขนขยะ ไม่ใช่ค่ากำจัดขยะ ทางแต่ละ อบต.จึงขนแล้วนำไปกองไว้ไม่เคยเอาไปกำจัด เนื่องจากการเผา หรือฝังกลบจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกิโลกรัมละ 1 บาท จึงนำขยะไปกองไว้เท่านั้น

สำหรับการเริ่มบังคับใช้จะขึ้นอยู่กับเทศบาล หรือ อบต.แต่ละแห่งนำเข้าที่ประชุมในสภาท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่เสียก่อนแล้วจึงดำเนินการต่อไป ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อาจจะไม่เก็บค่ากำจัดขยะก็ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีการนำขยะไปฝังกลบอย่างถูกต้อง และมีงบประมาณของตัวเอง อาจจะไม่มีการจัดเก็บในส่วนนี้ก็ได้

ด้านพนักงานออฟฟิศย่าน จ.สมุทรปราการ ให้ความเห็นว่า อบต.เทพารักษ์ มีการจัดเก็บค่าขยะเดือนละ 40 บาทต่อครัวเรือน โดยที่ผ่านมา หมู่บ้านเคยจัดเก็บค่าขยะ และพนักงานรักษาความปลอดภัยเดือนละ 200 บาท แต่มีปัญหาจึงยกเลิกทุกอย่างให้ อบต.มาทำหน้าที่แทน ซึ่งเห็นด้วยกับมาตรการนี้ ถ้าขยะล้นแล้วจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการ ก็ต้องให้ความร่วมมือ บ้านเมืองจะได้พัฒนาได้

ขณะที่ชาวบ้านใน จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน อบต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ ไม่ได้มีการจัดเก็บค่าขนขยะ เพราะว่าเป็นนโยบายของนายก อบต.คนใหม่ ซึ่งเคยจัดเก็บที่เดือนละ 10 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งในอนาคตหากมีการเก็บค่ากำจัดขยะในกรณีที่ปริมาณขยะเกิน 150 กิโลกรัมต่อครัวเรือน เบื้องต้น จะพยายามลดการใช้ขยะให้ไม่เกินที่กำหนดก่อน ส่วนที่เกินมาจะนำไปทิ้งเอง โดยมองว่าถ้าจัดเก็บค่ากำจัดขยะเดือนละ 10 บาท ถือว่ายอมรับได้ หากเสียเกิน 100 บาทต่อเดือน อาจจะรวมกลุ่มในหมู่บ้านมาจัดการขยะกันเอง เนื่องจากที่ผ่านมา แต่ละบ้านจะจัดการขยะกันเองอยู่แล้ว ทาง อบต.เพิ่งมาตั้งถังขยะได้ไม่นานมานี้

มีนา บุญมี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง