การตกแต่งที่ใช่เวลานานนับเดือน กว่าจะเป็นต้นสลากย้อมหลากสีสันสดใส จากการประดับไม้เฮียว หรือเรียวไม้ไผ่แต่งปลายเป็นพู่ย้อมสี ไว้แขวนเครื่องไทยธรรมสำหรับพระสงฆ์ ถวายเป็นพุทธบูชา ต้นสลากย้อมประดับไม้เฮียวต้นละไม่น้อยกว่า 4,000 อัน ทั้ง 29 ต้นในปีนี้ เกิดจากการสร้างสรรค์ของชาวบ้าน เพื่อสืบสานประเพณีประจำปี ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร นอกจากเริ่มต้นงานบุญเดือนสิบ อุทิศกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ยังแสดงถึงวิถีความเชื่อที่สืบทอดกันมา จนเป็นเอกลักษณ์ลำพูนเมืองบุญหลวงแห่งล้านนา
ทานสลากภัตรเดิมเป็นของกลุ่มคนยองลุ่มน้ำปิง ถือทำกันในเดือนเป็ง 12 นับแบบทางเหนือ ตรงกับเดือน 10 นั่นเอง แต่ว่าความสำคัญนั้น ยังอยู่ที่เป็นบุญใหญ่ที่ให้ผู้หญิงทำให้ได้หนึ่งครั้งในชีวิต ซึ่งปัจจุบันต้นสลากนั้นมีความสูงมากนะคะ บางต้นนั้นสูงถึง 15 เมตร เกิดจากศรัทธาร่วมกันของคนลำพูนค่ะ
เดิมเนื้อหาในการฮ่ำกะโลงหรือกะโลงสลากย้อม ขับเป็นทำนองเสนาะสำเนียงล้านนา เล่าประวัติหญิงสาวผู้ทำสลาก กล่าวในพิธีถวาย เชื่อว่า เป็นบุญใหญ่ครั้งเดียวของหญิงสาวชาวยองเมื่อถึงวัยออกเรือน มีอานิสงส์มากตามคติว่า ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการบวชพระ ใช้ความพยายามสูง เพื่อจัดเตรียมจตุปัจจัย ทำสลากให้อลังการสวยงามที่สุด
ความเปลี่ยนแปลงจากวิถีเดิม ทำให้สลากย้อมที่เคยทำกันมา เปลี่ยนรูปแบบการถวายเป็นในนามวัดประจำหมู่บ้าน หากแต่ชายหญิงเชื้อสายยองที่อยู่ใน 3 ตำบล ทั้งริมปิง หนองช้างคืน และประตูป่า ยังร่วมกันจัดเตรียมของถวาย อย่างเครื่องอัฐบริขาร ผ้าห่อคำภีร์ บาตรพระ ผ้าสบง แพบุหรี่ ตลอดจนผักผลไม้ตามฤดูกาล และจัดทานสลากย้อมทุกปีที่วัดในพื้นที่ ต้นแบบบุญใหญ่ของหญิงชาวยอง ได้รับการฟื้นฟูร่วมกับงานสลากภัต หรือทานสลาก ประเพณีสำคัญแทนกตัญญูต่อผู้ล่วงลับ และทำนุบำรุงศาสนา
สลากย้อมเป็นหนึ่งในการถวายทานในงานสลากภัต บุญประจำปีก่อนออกพรรษา ที่ลำพูนเริ่มต้นจัดในวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ก่อน ตามคติถือองค์พระธาตุเป็นศูนย์รวมศรัทธา ปีนี้มีเส้นสลากไม่น้อยกว่าหมื่นเส้นรวบรวมถวายภิกษุ 1800 รูป ถือเป็นการถวายทานที่ได้อานิสงส์มาก เนื่องจากไม่เจาะจงทั้งผู้ให้และผู้รับ
เกือบ 50 ปีที่สลากย้อมห่างหายจากชุมชนยองในลำพูน จึงแทบไม่ได้เห็นการแต่งเครื่องทานสลากย้อม คุณค่าศิลปะฝีมือชนพื้นเมือง การฟื้นฟูราว 10 ปีมานี้ มีผลให้งานสลากย้อมยิ่งใหญ่ขึ้นส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ที่มากกว่านั้นคือความสูงใหญ่ของต้นสลากย้อมที่เพิ่มทุกปี เป็นเครื่องหมายแทนศรัทธายึดมั่นของชุมชนยองที่ยังไม่เสื่อมคลาย