ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทีดีอาร์ไอเรียกร้อง "กสทช." แสดงจุดยืนรับผิดชอบประมูล 3 จีล้มเหลว

เศรษฐกิจ
17 ต.ค. 55
14:16
70
Logo Thai PBS
ทีดีอาร์ไอเรียกร้อง "กสทช." แสดงจุดยืนรับผิดชอบประมูล 3 จีล้มเหลว

ราคาประมูล 3 จีที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม 3 ราย เสนอประมูลรวมเพียงกว่า 40,000 ล้าน ซึ่งถึงว่า เป็นราคาประมูลที่ต่ำกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการประมูลที่ไร้การแข่งขันสร้างความเสียหายให้กับประชาชน และ ประเทศชาติ โดยประธานทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า ราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคาประเมินถือเป็นความล้มเหลว และ กสทช.ควรต้องรับผิดชอบซึ่งหลังจากนี้ การประมูลผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการไปได้ กสทช.จะต้องมีบทบาทในการกำกับดูแลผู้ให้บริการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค

 

<"">
 
<"">

ในการประมูลใบประกอบกิจการโทรคมนาคมบนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม แบ่งใบอนุญาตกันไปค่ายละ 3 ใบ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ บริษัทลูกในเครือเอไอเอสเสนอราคาสูงสุด 14,625 ล้านบาท ขณะที่บริษัทลูกในเครือทรู และ ดีแทค เสนอเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท

หากดูจากสล็อตการประมูลจะเห็นว่า มีสล็อต อี และ เอช ที่มีการเสนอราคาสูงสุดแต่สล็อตที่เหลืออีก 5 สล็อตจะเห็นว่าไม่ขยับจากราคาตั้งต้นที่ 4,500 ล้านบาท และ น่าสังเกตว่ามี 1 สล็อตที่ไม่มีการเสนอราคาจนกระทั่งรอบสุดท้ายจนทำให้เกิดความสงสัยถึงการประมูล

 

<"">
 
<"">

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. อธิบายว่า อาจจะสวนทางกับข่าวการเตรียมงบประมูลของทั้ง 3 ค่าย โดยเอไอเอส เตรียมงบประมูลไว้ 30,000 ล้านบาท ดีแทคเตรียมงบประมูล 15,000 - 20,000 ล้านบาท ขณะที่ทรูเตรียมไว้ 10,000-20,000 ล้านบาท จะเห็นว่าทั้ง 3 ค่ายมีความพร้อมในด้านเงินลงทุน แต่กลับได้ราคาใบอนุญาตต่ำกว่าที่ตั้งงบประมาณไว้

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า รายได้ประมูลที่ 3 ค่ายเสนอ เมื่อคำนวณเปรียบเทียบกับอายุใบอนุญาต 15 ปี นับเป็นต้นทุนที่ต่ำเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท แต่กำไรได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่า เป็นการประมูลที่ล้มเหลว และ กสทช.ควรรับผิดชอบ พร้อมระบุว่า ราคาใบประมูลไม่มีผลต่อการกำหนดค่าบริการ

 

<"">
 
<"">

ขณะที่นางนิตยา สุนทรสิริพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศระหว่างประเทศ ระบุการประมูล 3 จี ควรเสนอราคาใบอนุญาตให้สูงกว่านี้ โดยน่าจะอยู่ที่ใบละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อราคาประมูลต่ำกว่าราคาประเมินกว่าร้อยละ 30 ค่าบริการควรจะถูก ซึ่งกสทช. จะต้องเข้ามากำกับดูแลราคาค่าบริการ รวมถึงคุณภาพที่ต้องได้มาตรฐานสากล

โดยกระบวนการหลังจากนี้ กสทช.จะรับรองการประมูลภายใน 3 วันนับจากสิ้นสุดการประมูลเมื่อวานนี้ ( 16 ต.ค.) จากนั้นเอกชนจะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตภายใน 90 วัน จึงจะได้รับใบอนุญาตตัวจริง และ ต้องจับตาบทบาทของ กสทช.ที่จะต้องออกประกาศเพื่อจะกำกับการคิดอัตราให้บริการของผู้ประกอบการเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง