สถานการณ์ภัยแล้ง
ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ลดระดับลงอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นสันดอนกลางน้ำหลายพื้นที่ หลังเขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายน้ำ โดยระดับน้ำบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง อยู่ที่ 1.47 เมตรจากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร ซึ่งกรมชลประทาน ระบุว่า น้อยที่สุดในรอบ 10 ปี ส่วนชาวบ้านนอกเขตชลประทานเตรียมสูบน้ำเข้านา และ สวนผลไม้ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์แล้ว
เช่นเดียวกับชาวนาตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตรที่เร่งสูบน้ำจากคลองธรรมชาติมากักเก็บในบ่อดินเพื่อสำรองไว้ใช้ทำการเกษตร เพราะขณะนี้แหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มแห้งขอด
ขณะที่น้ำในอ่างเก็บน้ำทุ่งนาหว่านไม่เพียงพอจนมีข่าวว่าชาวตำบลท่าเยี่ยม และ ชาวตำบลทับไทร ในอำเภอสากเหล็ก เกิดปัญหาแย่งน้ำ แต่นายประพาส คงแตง นายอำเภอสากเหล็ก ยืนยันว่า ไม่มีเรื่องดังกล่าว แต่เคยเกิดเหตุแย่งน้ำเมื่อหลายปีก่อน จึงเชิญตัวแทนชาวบ้าน มาพูดคุยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน
ส่วนชาวไร่อ้อยในตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ต้องประสบปัญหาอ้อยแคระแกรน เพราะขาดน้ำ ส่งผลให้ขายไม่ได้ราคา และ บางรายได้หันไปปลูกข้าวโพด และข้าวฟ่างแทน
ส่วนภัยแล้งในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขยายวงกว้าง โดยเฉพาะที่จังหวัดบึงกาฬ พบว่านาข้าว ในตำบลนาสวรรค์ เสียหายหลายหมื่นไร่ ขณะที่แหล่งน้ำสาธารณะเริ่มแห้งขอด โดยจังหวัดบึงกาฬประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งทั้งจังหวัดไปแล้วก่อนหน้านี้
ส่วนที่จังหวัดยโสธร ชาวนาตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว ลงทุนจ้างขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อนำน้ำมาเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังตั้งท้อง ชาวนา บอกว่า ต้องเสียค่าจ้างสูงถึงบ่อละ 10,000 บาท เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย
ขณะที่ชาวนาจาก 8 หมู่บ้าน ในตำบลท่าตูม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เรียกร้องให้นายยิ่งยศ ธนะจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ประสานไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำชีตอนกลาง เพื่อปล่อยน้ำสำหรับทำนาปรัง ชาวนา อ้างว่า ฤดูกาลที่ผ่านมาไม่ได้ทำนาปีเพราะเกรงว่า จะเกิดปัญหาน้ำท่วม