ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลขาฯอังค์ถัด แนะศึกษาผลกระทบ ก่อนเข้าร่วมทีพีพี

เศรษฐกิจ
17 พ.ย. 55
13:50
73
Logo Thai PBS
เลขาฯอังค์ถัด แนะศึกษาผลกระทบ ก่อนเข้าร่วมทีพีพี

เลขาธิการอังค์ถัด และนักวิชาการ แสดงความเป็นห่วงถึงการประกาศเข้าร่วมทีพีพีของรัฐบาลไทย โดยมองว่าข้อตกลงหลายข้ออยู่บนพื้นฐานที่สหรัฐฯ และกลุ่มทุนได้ประโยชน์สูงสุด

ในวงเสวนาวิชาการ วิเคราะห์ "ทีพีพี" ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร รศ.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เรื่องนี้อาจจะซ้ำรอยการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่เกิดข้อถกเถียงจนมีเครือข่ายภาคประชาชนออกมาชุมนุมคัดค้าน และต้องล้มเลิกไปเมื่อปี 2549 พร้อมชี้ว่าการประกาศเข้าร่วม ทีพีพีของรัฐบาลไทยครั้งนี้ เป็นการรีบตัดสินใจบนพื้นฐานทางการเมือง มากกว่าผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

สอดคล้องกับรศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่แสดงความกังวลว่าการเข้าร่วม ทีพีพีจะกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องการจดสิทธิบัตรยา ที่มีการกำหนดว่าขั้นตอนการตรวจรักษาโรคและการใช้ยา ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ป่วยต้องจ่าย และการผูกขาดการขึ้นทะเบียนยา จะทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยล้ม จนต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศ ผู้ป่วยระดับกลางไปจนถึงระดับล่างจะไม่สามารถเข้าถึงการรักษา เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัว

ขณะที่นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด กล่าวถึงกรณีที่ไทยจะประกาศความร่วมมือภายใต้กรอบ ทีพีพีกับสหรัฐฯ ว่า ไม่มีความจำเป็นที่ไทยต้องเร่งรีบเจรจา เพราะต้องศึกษาผลดีและผลเสียให้ชัดเจนก่อน และเห็นว่ากรอบความร่วมมือภายใต้อาเซียนบวก 3 และบวก 6 ที่ดำเนินการอยู่ ได้ประโยชน์มากกว่าทีพีพี

ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงผลกระทบทุกด้านให้เกิดความรอบคอบแม้กรอบ ทีพีพีจะเน้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง แต่คาดว่ากรอบ ทีพีพีในครั้งนี้ จะเน้นเฉพาะภาคการเมืองเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อันตราย และไทยควรให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นปัญหาระหว่างกันด้วย โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจด้านประกันภัย โดยปัจจุบัน สหรัฐฯสามารถเข้ามาลงทุนในธุรกิจประกันภัยในไทยได้ แต่ไทยไม่สามารถเข้าไปลงทุนธุรกิจประกันในสหรัฐฯได้ เนื่องจากมีข้อกีดกันทางการค้ามากมาย

สหรัฐอเมริกาเดินหน้าเจรจาความตกลง ทีพีพีมาตั้งแต่ปี 2550 ล่าสุดมีสมาชิกแล้ว 11 ประเทศ รอบมหาสมุทรแปซิฟิก และไทยกำลังจะเป็นประเทศที่ 5 ในกลุ่มอาเซียน ที่เข้าร่วมทีพีพีต่อจากบรูไน, สิงคโปร์, มาเลเซีย และเวียดนาม ท่ามกลางการวิเคราะห์ว่า นี่คือยุทธศาสตร์การใช้นโยบายทางเศรษฐกิจปิดล้อมเอเชีย และกดดันจีน ของสหรัฐฯ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง