ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลโลก เปิดพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร

ต่างประเทศ
31 พ.ค. 54
04:25
20
Logo Thai PBS
ศาลโลก เปิดพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เปิดกระบวนการพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวของรัฐบาลกัมพูชา เพื่อให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ก่อนยื่นตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้ตัวแทนไทยและกัมพูชาแถลงด้วยวาจา โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลก ที่ขึ้นพิจารณาคดีประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำ 14 คน และผู้พิพากษาเฉพาะกิจ 2 คน ลำดับแรกตัวแทนฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้นำเสนอข้อมูลต่อศาลโลกขอให้ออกมาตรการชั่วคราว ถอนทหารไทยออกจากพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันของทหาร
 
นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ในฐานะตัวแทนรัฐบาลกัมพูชา แถลงต่อศาลโลก ว่า  ในอดีตที่ผ่านมาเกิดการปะทะกันระหว่างกัมพูชาและไทย ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก พร้อมระบุไทยมีสัญญาผูกมัด ว่าจะต้องถอนออกจากพื้นที่ทับซ้อนใกล้ปราสาทพระวิหาร

ด้านนายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ขึ้นกล่าวเป็นชี้แจง เพื่อนำเสนอข้อมูลในภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายและท่าทีของไทยและบริบททางการเมืองและความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ใน 5 ประเด็น คือ
1. ไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกครบถ้วน
2.คำพิพากษาของศาลโลก เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่เส้นเขตแดน ตลอดเวลาที่ผ่านมา กัมพูชายอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยนิ่งเฉยไม่ได้ทักท้วงใดๆ มากกว่านี้
3.ไทยต้องการอยู่ร่วมกับกัมพูชาอย่างสันติและพัฒนาความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะสร้างความขัดแย้งกับกัมพูชา
4.ไทยไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มให้เกิดการปะทะ ไม่ว่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ปราสาทพระวิหาร และเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ปราสาทตาเมือนและตาควาย จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเองเพื่อปกป้องอธิปไตยและพลเรือนไทย ที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกัมพูชา
5.กัมพูชาต้องการดินแดนที่จะใช้เป็นพื้นที่กันชนในการจัดการปราสาทพระวิหารเพื่อให้กระบวนการขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์

 
ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า พอใจกับการชี้แจงของคณะทำงานคดีปราสาทพระวิหารของไทย เพราะสามารถชี้แจงตอบโต้หักล้างข้อกล่าวหาของฝ่ายกัมพูชาได้ และวันนี้ (31 พ.ค.) จะเป็นการชี้แจงทางวาจาในรอบที่ 2 ซึ่งจะเริ่มต้น ด้วยฝ่ายกัมพูชา และไทยจะเป็นลำดับต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง