ขณะที่เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านในวันพรุ่งนี้(17ธ.ค.55) โดยเห็นว่า การปรับขึ้นราคาโดยให้ภาคประชาชนแบกรับภาระนั้นไม่เป็นธรรม และรายได้จะตกอยู่กับบริษัท ปตท.และบริษัทปิโตเคมี
โดยในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน นำโดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา จะเคลื่อนไหวคัดค้านการปรับขึ้นแอลพีจี ที่ถนนสีลม ซึ่งเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร โดยจะใช้วิธีเคาะตะหลิวกับกระทะเป็นสัญญลักษณ์การต่อต้าน พร้อมแจกเอกสาร "ตีแผ่ความจริง... ก๊าซหุงต้ม ใครปล้นคนไทย?" โดยมีตัวแทน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มทวงคืนพลังงาน และเครือข่ายแรงงานนอกระบบเข้าร่วม
ทั้งนี้ เหตุผลของกระทรวงพลังงาน และปตท.ที่ต้องปรับขึ้นราคา เพราะอ้างว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคานำเข้าแอลพีจี ต้องปรับเพิ่มขึ้นไปด้วย
โดยเหตุผลที่ต้องนำเข้าแอลพีจีนั้น แม้ว่าไทยจะผลิตได้เองในสัดส่วนร้อยละ 55 แต่ปัจจุบันมีการใช้แอลพีจีเพิ่มมากขึ้น ทั้งภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง จากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องนำเข้า ส่วนเหตุผลที่ต้องปรับขึ้นภาคครัวเรือน และขนส่ง เป็นเพราะไม่ได้ปรับขึ้นในกลุ่มนี้มาหลายปีแล้ว
สำหรับการปรับขึ้นนั้นจะส่งผลให้รัฐชดเชยให้คน 3 กลุ่ม คือ ผู้มีรายได้น้อย ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ที่มีกว่า 3 ล้านครัวเรือน และกลุ่มผู้ไม่มีไฟฟ้าใช้อีก กว่า 1.9 แสนครัวเรือน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีรวมกันกว่า 3.8 ล้านครัวเรือน หรือ ชดเชยให้ครัวเรือนละไม่เกิน 6 กิโลกรัมต่อเดือน
รวมถึงกลุ่มแผงร้านค้าหาบเร่แผงลอย ที่มีเกือบ 400,000 ราย ก็จะได้รับการอุดหนุน 150 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งทั้งหมดภาครัฐมั่นใจว่า จะไม่กระทบต่อการปรับขึ้นราคาสินค้า
แต่กลุ่มผู้คัดค้านกลับเห็นว่า แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น แต่ไทยมี แอลพีจี ที่ผลิตได้ในประเทศมากถึงร้อยละ 55 จึงไม่จำเป็นต้องอ้างอิงราคาซื้อขายจากตลาดโลก และข้ออ้างที่ว่าภาคครัวเรือน และขนส่งใช้แอลพีจี เพิ่มขึ้น ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ภาคปิโตเคมี ก็มีสัดส่วนใช้ก๊าซใกล้เคียงกัน แต่กระทรวงพลังงานไม่เคยกล่าวถึง
ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องนำเข้า แอลพีจีจริง เหตุใด ไม่ให้ภาคปิโตเคมีรับผิดชอบ แต่กลับโยนภาระให้ภาคครัวเรือน และภาคขนส่งรับผิดชอบ ซึ่งหากปรับราคา แอลพีจีในปีหน้า ก็จะส่งผลให้ ภาคปิโตเคมี ได้ใช้แอลพีจี ในราคาถูก กว่าภาคครัวเรือน และภาคขนส่งทันที
พร้อมเห็นว่า การปรับขึ้น แอลพีจีของภาคครัวเรือน และขนส่ง จะส่งผลต่อราคาอาหารที่ต้องปรับขึ้นแน่นอนในปีหน้า รวมถึง ราคาแก๊ส 1 ถังตามบ้านเรือน ก็จะขยับขึ้นอีก 100 บาทจากราคาปัจจุบันในปีหน้า รวมถึงค่าไฟฟา และค่าครองชีพจะเพิ่มสูงตามมาด้วย
ในปีหน้าจะส่งผลให้ราคาแอลพีจี ทั้งภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง มีราคาเดียวกันที่กิโลกรัมละ 24 บาท 82 สตางค์ ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะยังไม่เปลี่ยนแปลงราคา โดยยึดราคาเพดานสูงสุดไม่เกิน 30.13 บาทต่อกิโลกรัม