กลุ่มบิ๊กทรีเรียกร้องรัฐบาลเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ
กรุงเทพมหานคร และกลุ่มบิ๊กทรีร่วมกันจัดการประกวดต้นไม้มหานครในวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยหวังให้คนกรุงเทพเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นไม้ การประกวดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีผู้ส่งต้นไม้เข้าประกวดทั้งหมด 37 ต้น ต้นไม้ที่สูงที่สุด มีผู้ส่งเข้าประกวด 19 ต้น ต้นไม้ที่สวย และสมบูรณ์ที่สุด มีผู้ส่งเข้าประกวด 25 ต้น และต้นไม้ที่ทรงคุณค่าที่สุด มีผู้ส่งเข้าประกวด 52 ต้น
ผู้ที่ชนะเลิศประเภทต้นไม้ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร คือ ต้นไทรย้อย ที่โรงเรียนพระราม 6 เทคโนโลยี มีขนาดเส้นรอบวงถึง 16.5 เมตร และ ต้นไม้ที่สวย และสมบูรณ์ที่สุดในกรุงเทพมหานคร คือ ต้นประดู่ ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ต้นไม้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด จะได้รับการบันทึกภาพ รวบรวมไว้ในหนังสือ 100 ต้นไม้มหานคร
กลุ่มบิ๊กทรียังสำรวจพบว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุดในโลก หากไม่นับรวมประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นทะเลทราย ซึ่งในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ขณะที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้ 39 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน กลุ่มบิ๊กทรีจึงเสนอให้รัฐบาลกำหนดตัวชี้วัดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในสถานที่ราชการ และพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งการวางผังเมืองควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่วนผลการสำรวจของนิด้าโพลยังพบว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 86 ระบุว่าไม่เคยได้รับทราบนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อมจากพรรคการเมืองใด ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชน อยากให้รัฐบาลแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด 4 อันดับแรก คือ ปัญหามลพิษและขยะ, การตัดไม้ทำลายป่า, การจัดการทรัพยากรน้ำ และการจัดหาพลังงานทดแทน
ด้านเยาวชน และนักศึกษาใน จ.สงขลาร่วมกันวาดภาพ และเขียนข้อความลงในแผ่นผ้าก่อนนำไปติดบริเวณชายหาดสมิหลา สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด เพื่อสื่อสารให้สังคมร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูชายหาด ระหว่างร่วมกิจกรรม "แล เล แลหาดสงขลา" ซึ่งหลายหน่วยงานจัดขึ้นเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก
นายสมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมทางทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในปัจจุบันชายฝั่งทะเลอ่าวไทยภาคใต้ตอนล่าง 4 จังหวัด คือ จ.นครศรีธรรมราช, สงขลา, ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งมีระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร มีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงจนเสียพื้นที่ชายหาดไปแล้วถึงร้อยละ 40 หรือเป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร สาเหตุหลักเกิดจากการเข้าไปก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นชนิดต่างๆ ที่ทำให้สมดุลทางธรรมชาติของหาดทรายสูญเสียไป
ทั้งนี้ ในทางวิชาการหาดทรายถือว่าเป็นรอยต่อที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างแผ่นดินที่เป็นของแข็ง กับน้ำทะเลที่เป็นของเหลว การดูแลชายหาดที่ดีคือ การไม่สร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ รุกล้ำชายหาด แต่ปล่อยให้ชายหาดปรับตัวตามธรรมชาติของแต่ละฤดูกาล