ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขับเคลื่อน “ครัวไทยสู่โลก” เปิดแผนรุกตลาดเกษตรและอาหาร

4 ก.พ. 56
08:23
543
Logo Thai PBS
ขับเคลื่อน “ครัวไทยสู่โลก” เปิดแผนรุกตลาดเกษตรและอาหาร

กรมส่งเสริมการค้าฯหวังปีนี้ขยายตัว 10% ชูลุกค์อาหารไทยรสชาติดีมีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ

 นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) เผยถึงการผลักดัน“ครัวไทยสู่ครัวโลก” ภายใต้นโยบายรัฐบาลโดย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการตลาดอย่างยั่งยืน ครอบคลุมการพัฒนาและการส่งเสริมสินค้าเกษตร อาหาร ธุรกิจอาหารและร้านอาหารไทยทั้งประเทศและต่างประเทศว่า รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยสูงขึ้น10% สถานประกอบการด้านอาหารได้รับมาตรฐานเพิ่มขึ้น 5% และอาหารของประเทศไทยมีภาพลักษณ์เป็นอาหารรสชาติดีมีคุณภาพและดีต่อสุขภาพโดยสอดรับกับภาวะตลาดโลกที่ต้องการสินค้าบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในปี 2556 ไทยได้ตั้งเป้าหมายในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 10  % โดยกรมฯมีแผนในการส่งเสริมและพัฒนาการส่งออกสินค้าอาหารหลายโครงการ อาทิ กิจกรรมพัฒนาสินค้าและผู้ประกอบการ 4 กิจกรรม อาทิ โครงการเจาะตลาดอาหารสุขภาพเพื่อการส่งออก โครงการลู่ทางกาค้าการส่งออกอาหารแช่แข็งไปตลาดยุโรปและอาเซียน เป็นต้น การจัดงานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ 12 งาน คณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้าในต่างประเทศ 5 คณะ เพื่อเดินทางไปเจรจาการค้าในประเทศอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่นและตะวันออกกลาง เป็น 
 
ส่วนงานแสดงสินค้าอาหาร เครื่องดื่มและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสำคัญในต่างประเทศตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกมีจำนวน19 งานใน 14 ประเทศ อาทิ งานแสดงสินค้า World Food Moscow 2013 กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 56 งานแสดงสินค้าFine Food Australia 2013นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 9-12 กันยายนนี้ งานแสดงสินค้า Food Taipei 2013 ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายนนี้ และงานแสดงสินค้า Anuga 2013เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคมนี้เป็นต้น 
 
โดยยังได้มีแผนที่จะจัดให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักธุรกิจไทยในการเข้าไปลงทุน หรือร่วมทุนทำธุรกิจอาหาร หรือ เปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศใน 2 ภูมิภาค คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย)และยุโรปตะวันออก(รัสเซีย โปแลนด์) เพื่อให้คำปรึกษาด้านการตลาด กฎหมายและด้านเงินทุน คาดว่าจะเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เปิดธุรกิจ และผลักดันให้สินค้าอาหารไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ
 
ทั้งนี้จากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคเป็นระยะๆ เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งในด้านการขยายตลาดส่งออกเชิงรุก ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม และควรมีความพร้อมในการปรับตัวให้ทันกับมาตรการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันสินค้าอาหารที่ผลิตจากประเทศไทยถือเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคให้การยอมรับในเรื่องคุณภาพ ยังถือเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีการพัฒนาตลาดและยกระดับการค้าสู่สากล  ในรูปแบบต่างๆ เช่น การแต่งตั้งตัวแทน การจัดตั้งสาขา การมีหุ้นส่วนหรือ ผู้ร่วมทุน การขยายแฟรนไชน์ของไทยเข้าไปในตลาดต่างประเทศ การสร้างตราสินค้าของตนเอง รวมทั้งการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูกในต่างประเทศ และการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจ เพื่อเป็นการลดต้นทุน
 
กรมฯรับทราบและติดตามปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมอาหารไทย และแสวงหาแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออก แม้ว่าท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งประสบปัญหาสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมีผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินเหรียญสหรัฐและเงินยูโรมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง อาจส่งผลต่อความสามารถในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในตลาดดังกล่าวลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูง อันเป็นผลจาก สภาวะอากาศที่แปรปรวนทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมีผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนลอจิสติกส์เพิ่มสูง
 
ประกอบกับภาวะการค้าโลกในปัจจุบัน มีการนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีมาใช้ในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น อาทิเช่น มาตรฐานสุขอนามัยที่เข้มงวดขึ้น มาตรการทางด้านแรงงานและมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เป็นต้น 
 
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าจะมีมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตมาบังคับใช้กับผู้ผลิต/ส่งออก และภาวะการแข่งขันทางการค้าการลงทุนจากทั่วโลกรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังคงดำเนินธุรกิจส่งออกโดยใช้ราคา F.O.B. เป็นหลักทำให้ไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เกิดจากมูลค่าเพิ่มและส่วนต่างภายนอกประเทศ รวมไปถึงการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิต ทำให้ต้องมีการแสวงหาวัตถุดิบมาใช้ในภาคการผลิต 
 
สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตสินค้า และส่งผลกระทบให้ไทยอาจต้องเสียส่วนแบ่งในตลาดโลก 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง