เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สะท้อนมุมมอง และแนวคิดของคน กทม.ด้วย

การเมือง
3 มี.ค. 56
14:24
61
Logo Thai PBS
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สะท้อนมุมมอง และแนวคิดของคน กทม.ด้วย

สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม .คนที่ 16 ครั้งนี้ ผลคะแนนการเลือกตั้ง ไม่เพียงเป็นตัวเลขชี้วัดคะแนนนิยมของพรรคการเมือง 2 ขั้ว แต่ยังสะท้อนถึงมุมมองและแนวความคิดของคนกรุงเทพมหานครอีกด้วย

ตัวเลขคะแนนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่คนกรุงเทพฯน่าจะชี้ให้เห็นถึงความพึงพอใจในผลงานของ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์

นั่นก็เพราะว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นตัวแทนฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นตัวแทนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังนั้นหากผลคะแนนเลือกตั้งไม่พลิกไปจากนี้ ก็จะเท่ากับคนกรุงเทพฯ ได้ชี้ขาดผลงานของฝ่ายค้าน ในการทำหน้าตรวจสอบถ่วงดุลแล้วว่า เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และสนับสนุนในแนวทางปัจจุบันต่อไป

ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ของ พล.ต.อ.พงศพัศ และยังต้องยอมรับการส่งสัญญาณของคนกรุงเทพฯ ด้วย ว่าต้องการให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ชูนโยบายประชานิยมมาโดยตลอด ได้ทบทวนแนวนโยบาย และแนวการบริหารให้รอบคอบ และรอบด้านกว่าช่วงเวลาปีเศษที่ผ่านมานี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องตีความกันด้วยว่า ผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังเป็นตัวชี้วัดศักยภาพความเป็นพรรคการเมืองของ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ อีกด้วย

พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ผอ.ศูนย์เลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และนายภูมิธรรม เวชชยชัย ผอ.ศูนย์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย เวลานี้จะพอบอกได้ว่า ศักยภาพการทำงานในสถานะการเป็นพรรคการเมือง ยังแตกต่าง และทิ้งห่างกันอยู่ค่ะ

แม้จะไม่นับช่วงประสบการณ์ทางการเมืองในอดีต แต่ช่วงเวลาของสนามเลือกตั้ง รวม 44 วัน ถือเป็นการสู้ศึกเลือกตั้ง ทั้งในนามพรรคการเมือง และในภาวะการเป็นผู้นำของบุคคล โดยเฉพาะการตีความไปถึงเบื้องหลังความเป็นสถานบันพรรคการเมืองของ ประชาธิปัตย์ และภาพลักษณ์ที่พรรคเพื่อไทย ยังไม่สามารถลบออกไปได้ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแน่นอนค่ะว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ย่อมต้องเป็นตัวเลขชี้วัด "คะแนนนิยม"ทั้งในวันนี้ และในอนาคตอีกด้วย

ที่ว่าเป็นคะแนนนิยมในวันนี้ ก็คือคะแนนนิยมของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อตัวผู้สมัคร โดยเฉพาะคะแนนนิยมใน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มีมากกว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ แม้ภาพลักษณ์ของ พล.ต.อ.พงศพัศ จะถูกกำหนดให้เป็นคนหน้าใหม่ทางการเมือง ไร้ความขัดแย้ง แต่ก็ยังเป็นรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ทั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการบริหาร กทม.ใน 4 ปีที่ผ่านมาไม่น้อยเหมือนกัน

และถ้าประเมินจากยุทธวิธีในการหาเสียงหรือแนวนโยบายที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และพล.ต.อ.พงศพัศนำเสนอ ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก ซึ่งต่างก็เข้าข่ายฉาบฉว ยและขายฝันเช่นกัน หากแต่ว่าต่างกันที่ บุคลากรรอบข้าง คณะทำงานที่มีอยู่ หรือทีมที่อาสาจะเข้าไปช่วยบริหารจัดการ กทม.

และอาจเป็นไปได้ว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องทบทวนแผนที่ค้างอยู่ นั่นคือ การแก้รัฐธรรมนูญ และการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม พร้อมกับเคลียร์ปัญหาภายในพรรคกับกลุ่ม นปช. เพื่อสร้างเอกภาพ และคะแนนนิยมให้สูงขึ้น ขณะที่ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นต่ออยู่ แต่ก้าวย่างที่จะเดิน ย่อมต้องระมัดระวังอย่างสูง เพราะยังมีอุปสรรครออยู่ข้างหน้า ทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ที่ต้องข้อกล่าวหาคดีส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่ต้องข้อกล่าวหาคดีคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลซึ่งผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ย่อมต้องเป็นตัวเลขชี้วัด "คะแนนนิยม" ทั้งในวันนี้ และในอนาคตอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง