ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวบ้านเหมืองทองร้องดีเอสไอเหตุเลือดมีโลหะหนักดีเอ็นเอผิดปกติ-ยื่นนายกฯ ค้านสัมปทานเหมืองแร่ทั่วประเทศ

สิ่งแวดล้อม
14 พ.ค. 58
07:27
280
Logo Thai PBS
ชาวบ้านเหมืองทองร้องดีเอสไอเหตุเลือดมีโลหะหนักดีเอ็นเอผิดปกติ-ยื่นนายกฯ ค้านสัมปทานเหมืองแร่ทั่วประเทศ

ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ 7 จังหวัด ยื่นหนังสือให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ หลังผลเลือดจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และม.รังสิต พบโลหะหนักปนเปื้อน 400 คน ดีเอ็นเอเด็กและผู้ใหญ่ผิดปกติ 200 คน พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำ แร่เหล็ก และแร่ควอตซ์ ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ

วันนี้ (14 พ.ค. 58) ตัวแทนชาวบ้าน 7 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร จ.เพรชบูรณ์ จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ จ.เลย จ.สระบุรี และ จ.ลพบุรี รวมตัวยื่นหนังสือถึง นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้รับพิจารณาคดีมีประชาชนเจ็บป่วย และสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำใน จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และจ.พิษณุโลก ปนเปื้อนสารโลหะหนักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนไว้เป็นคดีพิเศษ

โดยกลุ่มชาวบ้านอ้างอิงผลตรวจเลือดของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ลงพื้นที่สุ่มตรวจและผลตรวจพบว่า มีสารโลหะหนักในร่างกายชาวบ้านที่อาศัยรอบเหมืองแร่ทองคำจำนวน 400 คน นอกจากนี้ยังยังพบอีกว่า เด็กและผู้ใหญ่มีดีเอ็นเอผิดปกติจำนวน 200 คน

ทั้งนี้ เวลา 11.00 น. ชาวบ้านทั้งหมดจะย้ายไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ การให้อาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ รวมถึงบันทึกข้อตกลงสำรวจแร่เหล็กและแร่ควอตซ์ ใน11 จังหวัดทั่วประเทศ

จากนั้นเวลา 13.00 น. นาฬิกา จะไปยื่นหนังสือคัดค้านสัมปทานเหมืองแร่ทองคำต่อนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในประเด็นเดียวกัน และเดินทางต่อในเวลา 14.00 น.เพื่อไปให้กำลังใจ นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังมีกระแสข่าวอาจถูกปรับพ้นตำแหน่ง กรณีไม่ลงนามอนุญาตนำที่ดินในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ไปเปิดสัมปทานทำเหมืองแร่

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ ในฐานะตัวแทนรับหนังสือระบุว่า หลังจากนี้ จะพิจารณาข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 เพื่อประกอบการพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจของดีเอสไอที่จะรับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง