นักวิชาการร้องรัฐบาลแจงความคุ้มค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท
ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า การชี้แจงร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นสิ่งที่สังคมจับตามอง เนื่องจากเป็นการลงทุนครั้งใหญ่และใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจงรายละเอียดการลงทุนให้ชัดเจน ขณะที่ฝ่ายค้านต้องแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการใช้เงิน ความคุ้มค่าเพื่อให้การใช้เงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงอีกร้อยละ 2 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 15 หากเทียบกับจีดีพีของประเทศที่ 12 ล้านล้านบาท จะประหยัดได้ปีละ 200,000-250,000 ล้านบาท และหากดำเนินการ 10 ปีจะคุ้มค่ากับการลงทุน 2 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนเฉลี่ยปีละ 300,000 ล้านบาทจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อยละ 1 ของจีดีพี ในช่วง 7-10 ปีข้างหน้าโครงการนี้มีโอกาสทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ร้อยละ 5-7 ของจีดีพี
ขณะที่ ศ.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุข้อห่วงกังวลถึงลักษณะของโครงการ ความคุ้มค่าของบางโครงการ ความเสี่ยงทางการเงิน และ ประสิทธิภาพของแต่ละโครงการ โดยภาพรวมเห็นว่า การพัฒนาระบบขนส่งทางรางเป็นเรื่องจำเป็นและรัฐบาลมาถูกทาง โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ ที่ต้องการเห็นรัฐบาลลงทุนและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับการปรับปรุง
ส่วนรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางนั้น มองว่าโครงการนี้มีต้นทุนสูงถึง 780,000 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 36 ของงบประมาณ ซึ่งต้องการให้รัฐบาลศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ และต้องรวมถึงสภาพบังคับทางกฎหมายด้วย ทั้งนี้อยากให้ประชาชนจับตาการลงทุนครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด