ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

100 วัน"สมบัด สมพอน" 9 ปีทนายสมชาย นีละไพจิตร...บทเรียน"สิทธิมนุษยชน"ในประชาคมอาเซียน

สังคม
1 เม.ย. 56
06:46
189
Logo Thai PBS
100 วัน"สมบัด สมพอน" 9 ปีทนายสมชาย นีละไพจิตร...บทเรียน"สิทธิมนุษยชน"ในประชาคมอาเซียน

กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่นน้ำโขง (TERRA) และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมจัดเวทีเสวนา หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในอาเซียน: กรณีศึกษา การสูญหายของ สมบัด สมพอน และ สมชาย นีละไพจิตร”ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 ภายใต้ความรุดหน้าของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ดูเหมือนว่า อาเซียนกลับละเลยและเพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนภายในแต่ละประเทศ เห็นได้จาก ความอ่อนแอของกลไกด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ความล้มเหลวจากการคุ้มครองและเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคล ประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ยังไร้สิทธิไร้เสียง ขาดการมีส่วนร่วมและไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าทีรัฐ ดังเช่นในการสูญหายของสมบัด สมพอน นักพัฒนาชาวลาวผู้ถูกลักพาตัวไปเมื่อสามเดือนก่อน และสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิมชาวไทยผู้ถูกลักพาตัวไปกว่า 9 ปีแล้ว นำมาซึ่งคำถามว่า ที่ประชาคมอาเซียนกำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจ แต่ละเลยสิทธิของความเป็นคน จะทำให้อาเซียนไปได้ไกลขนาดไหน 

 
 การเสวนาเปิดด้วยการอ่านแถลงการณ์ของคุณอึ้ง ชุย เม็ง ภรรยาของ สมบัด สมพอน โดยอาจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเพื่อนที่รู้จักทั้งคุณสมบัดและภรรยาเป็นอย่างดี ในแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า การหายตัวของบุคคลเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างปรกติสำหรับประเทศในภูมิภาคของเรา บ่อยครั้งที่การหายตัวไปเช่นนี้มิได้เกิดจากกลุ่มอาชญากรรม แต่เกิดจากการจงใจกระทำของรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อข่มขู่หรือปิดปากพลเมืองที่ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา เพราะความเชื่อของเขาหรือเพราะกิจกรรมที่พวกเขาทำต่อต้านความอยุติธรรมหรือเป็นการทำเพื่อคนยากจนและคนที่ถูกกดขี่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นอาชญากรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
อึ้ง ชุย เม็ง  แถลงว่าถึงแม้ประเทศในอาเซียนได้รับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน และร่วมก่อตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เป็นสถาบันหลักที่ส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในอาเซียน แต่การหายตัวไปของคุณสมบัด สมพอนทำให้เข้าใจได้ว่ากลไกและสถาบันด้านสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศไม่มีผลบังคบใช้ และคำกล่าวอ้างของรัฐเรื่องการเคารพสิทธิ หลักนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่เธอรู้สึกสบายใจขึ้นมาบ้างที่มีการจัดเสวนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้โลกได้รับรู้ว่าเราจะไม่ยอมให้สมบัดและสมชายหรือเหยื่อคนอื่น ๆ ที่ถูกบังคับให้สูญหายเลือนหายไปจากจิตสำนึกร่วมของทุกคน
 
 อังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ผู้สูญเสียสามีไปกว่า 9 ปี กล่าวว่า ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายมาตราไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เช่น ม.5 ม.7 และม.8 จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะคุ้มครองสิทธิของคนในภูมิภาคได้จริงหรือไม่ โดยจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ได้รับการร้องเรียนระบุว่าสถิติผู้ถูกบังคับให้สูญหายในอาเซียนยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนและชัดเจน ตามรายงานแบ่งเป็นประเทศลาว 1 กรณี (ไม่รวมกรณีคุณสมบัด สมพอน) เวียดนาม 1 กรณี พม่า 2 กรณี อินโดนีเซีย 162 กรณี ส่วนกัมพูชา บรูไน มาเลเซียไม่มีการรายงานตัวเลขผู้ถูกบังคับให้สูญหาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการบังคับให้สูญหายเกิดขึ้น ในส่วนของประเทศไทยมี 71 กรณีซึ่งยูเอ็นเคยขอความร่วมมือรัฐบาลไทยเข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ได้รับการปฏิเสธ
 
“กรณีคดีสมชายอาจเป็นเพียงโศกนาฏกรรมส่วนตัวซึ่งไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ รัฐบาลอาจจะตอบว่าได้เงินแล้วจะเอาอะไรอีก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคุณสมชาย เชื่อว่าคุณสมชายเขาจะไม่เสียใจ หรือจะไม่ละทิ้งอุดมการณ์ เขาจะภูมิใจที่ตลอดชีวิตเขาได้ทำหน้าที่มนุษย์คนหนึ่งอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าตอนนี้ร่างของเขาจะนอนสงบนิ่งอยู่ที่ใดก็ตามเขาจะปราศจากซึ่งความกลัวและความกังวลทั้งสิ้น สมชาย นีละไพจิตร ไม่ใช่วีรบุรุษ แต่เป็นคนธรรมดาซึ่งเชื่อมั่นในความยุติธรรมและความเป็นธรรม”
 
 อังคณาสะท้อนปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนธรรมดาว่าเป็นเรื่องยากมาก บางทีความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยดุลอำนาจ เราไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีสิ่งมาแลกเปลี่ยนจึงแทบมองไม่เห็นทาง ตอนนี้คดีลักพาตัวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลฎีกา และคดีคนสูญหายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็น 1 ใน 3 คดี (คดีสมชาย นีละไพจิตร-กมล เหล่าโสภาพันธ์-อัลรู ไวลี่) ซึ่งสังเกตุได้ว่าดีเอสไอพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้จับกุมนายสมคิด บุญถนอม จำเลยคดีอุ้มนายอัลรู ไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเข้าคุกให้ได้ แต่คดีสมชายและกมลกลับไม่คืบหน้าเลย ดังนั้นการหายตัวไปของคุณสมชายถือเป็นกรณีศึกษาที่รัฐบาลจะต้องสร้างกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นจริงให้ได้
 
วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ นักพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมผู้เคยร่วมงานกับสมบัด ในฐานะผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาในลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าต้นเหตุของการถูกบังคับให้สูญหาย เกิดจากความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาชาติพันธุ์ ความขัดแย้งของขั้วอำนาจทางสังคม ความขัดแย้งข้ามรัฐ ข้ามพรมแดน เช่นเดียวกับกรณีหายตัวไปของสมบัด สมพอน  
“การหายตัวไปของสมบัดไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแน่นอน ถึงแม้สมบัดไม่ได้แสดงบทบาทชัดเจนที่ท้าทายรัฐ ไม่ได้ออกไปเดินขบวน แต่เป็นนักพัฒนาที่ได้รับการยอมรับ เป็นผู้นำอาวุโส เป็นผู้นำทางความคิดของภาคประชาสังคมระดับหนึ่ง และการที่สมบัดร่วมต่อสู้คัดค้านการนำพื้นที่ในประเทศให้เอกชนต่างชาติเช่าในระยะเวลาที่ยาวนาน ส่งมีผลกระทบให้ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยเลย และร่วมคัดค้านกรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการหายตัวไป ถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู”
 
วิฑูรย์ทิ้งท้ายว่ารัฐบาลลาวประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป เพราะนึกไม่ถึงว่าจะมีภาคประชาคมทั่วโลกติดตามกรณีการหายตัวไปของสมบัดมากขนาดนี้  ตอนนี้รัฐบาลลาวจึงได้แต่ปิดปากเงียบอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น ดังนั้นเราในฐานะภาคประชาสังคมไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว การต่อสู้กับปัญหานี้ไม่สามารถทำได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะต้องร่วมมือกัน เพราะถ้าเรากลัวและถอยก็จะมีเหยื่อรายอื่น ๆ อีกต่อไป
 
 
 
         


ข่าวที่เกี่ยวข้อง