วันนี้ (23 เม.ย.2568) Reuters รายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในวงการเทคโนโลยี ด้วยการสั่งปรับ Apple เป็นเงิน 500 ล้านยูโร (570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ Meta 200 ล้านยูโร (228 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ฐานละเมิดกฎหมาย Digital Markets Act (DMA) ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมอำนาจของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดดิจิทัล
การปรับครั้งนี้เป็นการบังคับใช้กฎหมาย DMA ครั้งแรก และจุดชนวนข้อพิพาทเมื่อทั้ง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ออกมาโต้แย้งอย่างดุเดือด
EU ลงโทษ Apple-Meta ทำไม ?
DMA ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 กำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า "Gatekeepers" เช่น Apple, Meta, Google และ Amazon ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เพื่อป้องกันการผูกขาดและเปิดโอกาสให้คู่แข่งรายย่อย
หลังการสืบสวนนาน 1 ปี โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) พบว่า Apple ละเมิดกฎหมาย DMA โดยตั้งข้อจำกัดทางเทคนิคและการค้าที่ขัดขวางนักพัฒนาแอป จากการแนะนำผู้ใช้ไปยังช่องทางการซื้อที่ถูกกว่าภายนอก App Store เช่น การสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ นอกจากนี้ Apple ยังทำให้การโหลดแอปจากแหล่งอื่นทำได้ยาก ด้วยการกำหนดเงื่อนไข เช่น การเรียกเก็บ Core Technology Fee ซึ่ง EU มองว่าเป็นการกีดกันนักพัฒนา
ทางด้าน Meta ละเมิดกฎหมาย DMA ด้วยโมเดล "Pay or Consent" ที่เริ่มใช้ในเดือน พ.ย.2566 ซึ่งบังคับให้ผู้ใช้ Facebook และ Instagram ต้องเลือกระหว่าง ยอมให้บริษัทติดตามข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับโฆษณา หรือจ่ายเงินเพื่อใช้บริการแบบไม่มีโฆษณา EU ระบุว่านี่ไม่ใช่การยินยอมโดยอิสระ และละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
ทั้ง 2 บริษัทมีเวลา 2 เดือนในการแก้ไขตามคำสั่งของ EU หากไม่ปฏิบัติตาม อาจเผชิญค่าปรับรายวันเพิ่มเติม ซึ่งอาจกระทบผลกำไรและภาพลักษณ์ในระยะยาว

Apple-Meta โต้กลับ "ถูกกลั่นแกล้ง"
ทั้ง Apple และ Meta ออกมาแสดงความไม่พอใจและเตรียมต่อสู้ทางกฎหมาย โดย Apple ประกาศยื่นอุทธรณ์ ระบุการตัดสินของ EU เป็นการกลั่นแกล้งบริษัทสหรัฐฯ และ เป็นอันตรายต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้ บังคับให้บริษัทให้เทคโนโลยีฟรี และส่งผลเสียต่อผลิตภัณฑ์ Apple อ้างว่า EU มุ่งเป้าโจมตีบริษัทอย่างไม่เป็นธรรมในหลายคดี
Meta วิจารณ์ว่า EU พยายามขัดขวางความสำเร็จของธุรกิจอเมริกัน ขณะที่ปล่อยให้บริษัทจีนและยุโรปปฏิบัติตามมาตรฐานที่ต่างกัน โจเอล แคปแลน หัวหน้าฝ่ายนโยบายสากลของ Meta กล่าวว่า การบังคับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจนี้เหมือน "เก็บภาษีหลายพันล้านดอลลาร์" และทำให้ต้องให้บริการที่ด้อยลง ขณะนี้ Meta กำลังหารือกับ EU เกี่ยวกับโมเดลใหม่ที่เริ่มใช้ในเดือน พ.ย.2567
การสั่งปรับครั้งนี้ ถือเป็นการลงโทษครั้งแรกภายใต้กฎหมาย DMA ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของ EU ในการควบคุมอิทธิพลของยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ค่าปรับ 700 ล้านยูโร "ถือว่าน้อย" เมื่อเทียบกับการลงโทษในอดีตของ EU ภายใต้การนำของ มาร์เกรเธอ เวสเทเกอร์ อดีตหัวหน้าฝ่ายต่อต้านการผูกขาด ซึ่งเคยปรับ Google และ Apple เป็นพันล้านยูโร แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า ค่าปรับที่ต่ำลงนี้เกิดจาก
- ระยะเวลาการละเมิดที่สั้น
- การเน้นให้บริษัทปฏิบัติตามกฎมากกว่าลงโทษหนัก
- ความกังวลเรื่องการตอบโต้จากสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์
นอกจากนี้ EU ยังสั่งให้ Apple ยกเลิกข้อจำกัดที่ขัดขวางนักพัฒนา และให้ Meta ปรับโมเดล Pay or Consent เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย DMA นอกจากนี้ EU ได้ยกเลิกการกำหนดให้ Meta’s Marketplace เป็น Gatekeeper ภายใต้กฎหมาย DMA เนื่องจากจำนวนผู้ใช้ลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
ในอีกคดีหนึ่ง EU ยุติการสอบสวน Apple เกี่ยวกับตัวเลือกเบราว์เซอร์บน iPhone หลัง Apple ปรับปรุงระบบให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไปใช้เบราว์เซอร์หรือเสิร์ชเอ็นจินคู่แข่งได้ง่ายขึ้น เช่น การตั้งค่า Google Chrome หรือ Bing แทน Safari ซึ่ง EU เห็นว่าสอดคล้องกับกฎหมาย DMA อย่างไรก็ตาม Apple ยังถูกปรับในประเด็น App Store และ Sideloading ซึ่งเป็นหัวใจของการละเมิด

อนาคตศึก Big Tech
การลงโทษครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการบังคับใช้กฎหมาย DMA ซึ่งอาจนำไปสู่การลงโทษบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น Google ซึ่งถูกจับตาเรื่องธุรกิจโฆษณาดิจิทัล หรือ X ของ อีลอน มัสก์ ที่อาจเผชิญการตรวจสอบด้านเนื้อหา
เทเรซา ริเบรา หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการผูกขาดของ EU กล่าวว่า ได้ดำเนินการอย่างหนักแน่นแต่สมดุล ทุกบริษัทที่ดำเนินงานใน EU ต้องเคารพกฎหมายและค่านิยมยุโรป ส่วน สส.ยุโรป อันเดรอัส ชวาบ เตือนว่า EU ต้องไม่ยอมผ่อนปรนในการสอบสวน เพราะหากการตัดสินใจผูกโยงกับนโยบายการค้า อาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้างของสหภาพยุโรป พร้อมเรียกร้องให้ EU เร่งตัดสินคดี Google และ X เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของนโยบายการแข่งขัน
รู้จักกฎหมาย DMA
กฎหมาย Digital Markets Act (DMA) ของสหภาพยุโรป (EU) คือกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมอำนาจของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า "Gatekeepers" เช่น Apple, Meta, Google และ Amazon เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดดิจิทัล DMA มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2567
โดยกำหนดให้บริษัทเหล่านี้ต้องเปิดโอกาสให้คู่แข่งรายย่อยเข้าถึงตลาด อนุญาตให้ผู้ใช้มีทางเลือกมากขึ้น และห้ามใช้อำนาจผูกขาดกีดกันคู่แข่ง เช่น การจำกัดนักพัฒนาแอปหรือบังคับใช้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม
เป้าหมายของกฎหมาย DMA คือปกป้องผู้บริโภคและนักพัฒนา โดยกำหนดกฎเกณฑ์ เช่น ห้ามบริษัทให้ความสำคัญกับบริการของตัวเองมากกว่าคู่แข่ง ต้องอนุญาตให้ผู้ใช้ติดตั้งแอปจากแหล่งอื่น (Sideloading) และต้องให้ข้อมูลที่โปร่งใสเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล หากฝ่าฝืน บริษัทอาจถูกปรับสูงสุดร้อยละ 10 ของรายได้ทั่วโลก หรือเผชิญคำสั่งแก้ไข เช่น การปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของ EU
อ่านข่าวอื่น :
"คลัง" จ่อกู้ 5 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจรับมือภาษีทรัมป์
"วันนอร์" สั่งสอบทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์รัฐสภา 14 ล้านบาท