ปรับตัวการท่องเที่ยวบ้านห้วยแร้ง
เรื่องของการท่องเที่ยวโดยชุมชน แน่นอนว่าสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนในชุมชน แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า หากไม่มีระบบการจัดการที่ดี นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้าไป อาจจะสร้างผลกระทบด้านอื่นๆตามมาได้ ก็อาจจะเป็นผลกระทบทั้งด้านระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่วิถีชุมชน
ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวเท่านั้น ที่เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน ปัจจัยภายนอกด้านอื่นๆ ก็มีผลกับการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย หลายชุมชนจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการท่องเที่ยว ให้สอดรับกับปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลง อย่างที่บ้านห้วยแร้ง จ.ตราด การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่นั่น ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐอย่างชัดเจน แต่พวกเขาก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบ และคงความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมไว้ได้ จนหลายคนเลือกเป็น 1 ในสถานที่ท่องเที่ยวช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์
วิเคราะห์พื้นฐานของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่วนใหญ่มาจากวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรม และวิถีธรรมชาติของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ถูกเพิ่มคุณค่า จนสร้างรายได้หลักให้กับคนในชุมชน แต่การจะจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้มีประสิทธิภาพได้ ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งคิดและวางแผนร่วมกันของคนในชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง เพราะการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ย่อมส่งผลกับวิถีชีวิตดั้งเดิม ขณะที่เรื่องของปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งขายความเป็นธรรมชาติอย่างที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านห้วยแร้ง ประธานมูลนิธิสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน บอกว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องที่ชุมชนต้องทำเพื่อความอยู่รอด ขณะที่ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างกลไกปกป้องชุมชนเหล่านี้
นอกจากการสร้างอำนาจต่อรองให้กับคนในชุมชน เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรในชุมชนของตัวเองแล้ว ประธานมูลนิธิสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน ยังเห็นว่า ชุมชนเองต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองด้วย นั้นก็คือการสร้างฐานความรู้และสร้างพันธมิตรในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทำ CSR กับหน่วยงานภาคเอกชน หรือแม้แต่การทำวิจัยชุมชนเพื่อเป็นฐานข้อมูลการท่องเที่ยว