ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยสะเทือน “ทรัมป์”ขึ้นภาษี ทุบเศรษฐกิจพัง 3.59 แสนล้าน GDP เหลือ 1.93%

เศรษฐกิจ
3 เม.ย. 68
16:54
2,101
Logo Thai PBS
ไทยสะเทือน “ทรัมป์”ขึ้นภาษี ทุบเศรษฐกิจพัง 3.59 แสนล้าน GDP เหลือ 1.93%
อ่านให้ฟัง
19:43อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เป็นข่าวใหญ่สะเทือนไปทั้งโลก ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าในสหรัฐทุกประเภทกับประเทศที่ได้ดุลการค้า

ไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป 20 % จีน 34 % ญี่ปุ่น 24 % แอฟริกาใต้ 30 % ไต้หวัน 32 % อินเดีย 26 % กัมพูชา 49 % ลาว 48 % เวียดนาม 46 % เมียนมา 44 % อินโดนีเซีย 32 % มาเลเซีย 24 % ฟิลิปปินส์ 17 % สิงคโปร์ 10 % และไทย ที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 37 % ซึ่งจะมีผลในวันที่ 9 เม.ย.นี้

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

แน่นอนว่าการประกาศเก็บภาษีของทรัมป์ ในรอบนี้ ส่งผลให้เกิดสงครามการค้าไปทั่วทั้งโลกเรียกได้ว่า สร้างความปั่นป่วนแทบทุกประเทศ ที่ต้องหามาตรการออกมาตอบโต้ในการขึ้นภาษีนี้

ประเทศไทย เป็น 1 ในหลายประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีค่อนข้างสูงเกินความคาดหมาย เพราะเดิมกระทรวงพาณิชย์-ภาคเอกชน มองว่า สหรัฐฯจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 10-20 % เท่านั้น

“พิชัย” รับตกใจ ทรัมป์ ขึ้นภาษีไทยสูง

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้ไทยและประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ว่า รู้สึกตกใจที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีไทยในอัตราสูงมาก เกินกว่าความคาดหมาย โดยสหรัฐฯ ได้คำนวณจากอัตราภาษีที่คู่ค้าเก็บจากสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เก็บจากคู่ค้า รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งของไทยคำนวณได้ 72 % และหาร 2 เท่ากับ 37 %

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์

ไม่ต้องห่วง เพราะไทยมีคณะทำงานที่เตรียมความพร้อมในการเจรจากับสหรัฐฯ ไว้แล้ว และมีความหวังว่าจะสามารถเจรจาต่อรองเพื่อให้สหรัฐฯ ลดภาษีลงได้ โดยไทยพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ ตลอดเวลา รอแค่ว่าสหรัฐฯ จะรับนัดเมื่อไร

รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ไทยจะพยายามอย่างเต็มที่ เจรจาให้สหรัฐฯ ลดภาษีลงมาให้ได้ ตอนนี้เตรียมข้อมูลเจรจาไว้หมดแล้ว และมีความหวังว่าจะสำเร็จ เพราะไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนการปรับขึ้นภาษี จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 3% หรือไม่ ขณะนี้ยังบอกไม่ได้

เก็บจริง 37 % ไม่ใช่ 36 % มีผล 9 เม.ย.

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นับว่าเกินความคาดหมายสำหรับไทย โดยอัตราภาษีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือเอกสารตอนแถลงข่าวอยู่ที่ 36 % แต่ในเอกสารประกอบคำสั่งฝ่ายบริหารอยู่ที่ 37 % แต่ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.2568 ยังมีเวลาที่ไทยจะเจรจาต่อรองได้ โดยไทยพร้อมที่จะเจรจาทุกเมื่อ รอเพียงให้สหรัฐฯ รับนัดมา หากเดินทางไปไม่ทัน ก็จะมีทีมไทยแลนด์ ที่เป็นเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นหัวหน้าคณะ แต่หากมีเวลาเดินทางไป รมว.พาณิชย์ จะเป็นหัวหน้าคณะไปเจรจาเอง

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คาดการณ์ว่า ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 11 % จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ 7,000-8,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 1 ปี แต่ขณะนี้ภาษีสูงถึง 37 % ก็อาจเสียหายมากกว่านี้ หากไทยไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าเจรจาต่อรองแล้ว เป็นผลสำเร็จ ก็อาจไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายลดลง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2-3 % หรือไม่ ต้องคำนวณอีกครั้ง

สำหรับแนวทางการเจรจากับสหรัฐฯ 1.ไทยจะลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้าบางรายการให้กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว แต่นำเข้าจากแหล่งอื่น อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐฯ 2.เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐฯ 3.ลดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าของสหรัฐฯ

โดยมั่นใจว่า จะเจรจาต่องรองกับสหรัฐฯ ได้ ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่การเจรจาด้านการค้าสินค้าเท่านั้น แต่จะทำทุกมิติ ทั้งการค้าบริการที่สหรัฐฯ ได้ดุลไทยจำนวนมาก การลงทุน การเป็นพันธมิตรที่ดี และหากให้คะแนนความสำเร็จ ถ้าได้เจรจากัน น่าจะได้ถึง 7-9 เต็ม 10

15 สินค้าไทยกระทบหนักสุด

อย่างไรก็ตามจากการประเมินเบื้องต้น พบว่า สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมาก จะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าสูง โดยสินค้า 15 อันดับแรกที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มาก ได้แก่ 1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องปริ้นเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น

ส่วนการพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะมีการหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เช่น อาจจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และมีการส่งออกไปสหรัฐฯ เพราะตัวเลขพวกนี้ มีข้อมูล มีสถิติชัดเจนอยู่แล้ว

การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ จะทำให้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยเจรจากับประเทศคู่ค้ามีความรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น ทั้งกรอบไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-เกาหลีใต้ และอาเซียน-แคนาดา

ม.หอการค้าชี้เศรษฐกิจพัง 3.57 แสนล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการภาษีตอบโต้ จะสร้างผลกระทบมากถึง 359,104 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.93 % แต่หากรวมกับเหตุการแผ่นดินไหวด้วยแล้ว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทย 374,851.8 ล้านบาท ฉุดให้จีดีพีไทยปีนี้ลดลง 2.02 % ส่งผลให้จีดีพีไทยทั้งปีนี้อาจขยายตัวปรับลดลงเหลือ 1 % ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ที่ 3 % โดยในส่วนของ ผลกระทบเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะสร้างความเสียหายราว 15,747.8 ล้านบาท ฉุดให้จีดีพีลดลง 0.08 %

สำหรับมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อ 4 กลุ่มสินค้า คือ เหล็ก, ผลิตภัณฑ์เหล็ก, อะลูมิเนียม, รถยนต์ อุปกรณ์-ส่วนประกอบ ซึ่งอัตราภาษีที่ประกาศใช้อยู่ที่ 25 % ทั้ง 4 กลุ่ม ประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 2568 รวมกันที่ราว 4,727 ล้านดอลลาร์ฯ แต่หากได้รับผลกระทบจากกรณีทรัมป์ 2.0 อาจจะทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือราว 4,077 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นมูลค่าของผลกระทบราว 650 ล้านดอลลาร์ (21,900 ล้านบาท)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ส่วนผลกระทบทางอ้อม อาจส่งผลให้การทะลักของสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เครื่องจักรกล, เฟอร์นิเจอร์, สินค้าเบ็ดเตล็ด, อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เป็นต้น เนื่องจากจีนจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายนี้

สรท.มองกระทบส่งออกไตรมาส 2 จี้รัฐเร่งเจรจา

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ยังไม่สามารประเมินมูลค่าความเสียหายจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐได้ แต่คาดว่าหลายอุตสาหกรรมต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่จะมีหรือน้อย โดยขณะนี้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมกำลังประเมินตัวเลขผลกระทบ ซึ่งในเดือนพ.ค.จะมีความชัดเจนมากขึ้น คาดว่าจะสรุปผลได้ในช่วงเดือนพ.ค.นี้

อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างการผลิต และทบทวนนโยบายกับประเทศคู่ค้าทั้งหมด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการในประเทศ

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

สรท.ตั้งเป้าการส่งออกทั้งปี ขยายตัว 1-3 % โดยอาจจะมีการปรับเป้าหมายการส่งออกอีกครั้งในไตรมาส 2 โดยขอหารือกับผู้ประกอบการเพื่อประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นรายสินค้าแต่ละตัว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนการส่งออกเดือนก.พ.มีมูลค่า 26,707 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14% การนำเข้ามีมูลค่า 24,718.9 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.0 % ส่งผลให้ไทย เกินดุล 1,988.3 ล้านดอลลาร์ ภาพรวม 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 51,984.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.8 %

อย่างไรก็ตามเมื่อเจาะลึกไปดูตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวที่สูงกลับไม่สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตของไทยหรือ PMI ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน ดังนั้นจะต้องไปพิจารณาว่าเป็นการลงทุนใหม่เพื่อการผลิตส่งออกหรือไม่หรือมีการสวมสิทธิ์สินค้าไทยแล้วส่งออกหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับมีปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนเสมือนระเบิดเวลาที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1.Trade War Trump 2.0 ความไม่นอนของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จากมาตรการภาษีศุลกากร ส่งผลให้ต้นทุนทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น 2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังไม่มีข้อยุติทั้ง รัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-กลุ่มฮามาส แม้มีข้อตกลงหยุดยิงแต่ยังคงมีการปะทะกันในหลายพื้นที่

3.ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน เป็นผลมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และปัจจัยราคาทองคำ 4.ปัจจัยเฝ้าระวังขนส่งสินค้าทางทะเล ทั้ง ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ที่จะส่งผลต่อความผันผวน และมีผลต่อการวางแผนการสต็อกและส่งออกสินค้า

สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคทะเลแดง มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ค่าระวาง ดัชนีรวมปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยค่าระวางเส้นทางไปยังเอเชียปรับเพิ่มขึ้นในหลายเส้นทางซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้า และ 4 ความกังวลเกี่ยวกับมาตรการของสหรัฐฯ ต่อเรือขนส่งสินค้าที่ต่อในประเทศจีน (Chinese-Built vessel)

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอ 3 เร่งที่สำคัญ คือ 1. เร่งเจรจาสหรัฐ โดย ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เร่งนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการจากสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้าและ ใช้แนวทาง ASEAN+ ในการเจรจา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับสหรัฐ

2.เร่งเจรจาและใช้ประโยชน์ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า และกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นได้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐ โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ ต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน

3.เร่งปฏิรูปการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยสนับสนุนการลงทุน ใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบหลัก การมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมต้นน้ำ และซัพพลายเออร์ภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงภายในประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยมีการยกระดับ

ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม-เกษตรกระทบหนัก

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร กล่าวว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐกระทบต่อสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐค่อนข้างมาก ทั้งเครื่องโทรศัพท์ โทรสาร เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ ขณะที่สินค้าเกษตรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งสินค้าแต่ละตัวก็ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน

โดยมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้า เมื่อสินค้ามีราคาสูงขึ้นก็ทำให้ส่งออกไปได้ลดลง สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบชัดเจนเนื่องจากประเทศคู่แข่งเสียภาษีน้อยกว่า ได้แก่ สับปะรด ซึ่งฟิลิปปินส์ โดนขึ้นภาษีน้อยกว่าไทย ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยมาเลเซียถูกปรับขึ้นภาษีน้อยกว่าไทยเช่นกัน ขณะเดียวกันต้องมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันการเข้ามาทำตลาดของประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนถูกกว่า

การส่งออกในไตรมาส 1 ไม่น่ามีปัญหา แต่จะเห็นผลกระทบในไตรมาส 2 ยังมีออเดอร์สั่งซื้อสินค้าอยู่ แต่เบื้องต้นคาดว่าตัวเลขจะลดลง โดยช่วงหลังสงกรานต์ ผู้ส่งออกไทยน่าจะได้รับข้อมูลจากฝั่งผู้นำเข้าถึงผลกระทบ และจะสามารถประเมินได้ว่าตัวเลขในไตรมาส 2 จะลดลงเท่าไร 

อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐในครั้งนี้ยังมีแนวทางแก้ไข คือ การเจรจากับสหรัฐในแต่ละประเทศที่โดนสหรัฐขึ้นภาษีจะเป็นตัววัดว่า ช่วงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ต่อเนื่องไปปี 2569 เรื่องของคำสั่งซื้อสินค้าจะไปที่ประเทศไหนมากกว่ากัน ซึ่งอยู่กับความสามารถในการเจรจาของแต่ละประเทศ และจะชิงความได้เปรียบทางการค้ามากกว่าประเทศที่เจรจาด้อยกว่า

ชี้เป็นกลยุทธ์บล็อกสินค้าจีนย้ายฐานผลิต

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ไม่เกินความคาดหมาย เพราะรู้ว่าสหรัฐณจับตาดูอยู่ ซึ่งรอบนี้ ทรัมป์ใช้คำว่า Reciprocal Tariff คือ การเอาคืนทางภาษีเพราะไทยเก็บภาษีสหรัฐฯในหลายสินค้าเช่นกัน แต่ทั้งนี้ สหรัฐเองก็ยังเปิดช่องให้เจรจาเพียงแต่ รมว.คลังของสหรัฐเองพูดในเชิงขู่ว่าหากประเทศใดตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกลับ สหรัฐฯยังมีช่องว่าการขึ้นภาษีที่เหลืออยู่

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต

ไทยโดย สหรัฐฯขึ้นภาษี 37 % เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของภาษีที่ไทยเก็บกับสินค้าสหรัฐฯ นั้นหมายความว่า หากไทยขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กลับ สหรัฐฯก็อาจจะขึ้นภาษีส่วนที่เหลือได้

ทั้งนี้การที่สหรัฐฯขึ้นภาษีประเทศอาเซียนสูง อาจจะเป็นเป็นการบล็อกไม่ให้จีนย้ายฐานกำลังการผลิตไปเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯเพราะจะเห็นว่า ทรัมป์ ขึ้นภาษี กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา สูงมาก เพราะเป็นการบล็อกไม่ให้จีนย้ายฐานผลิตมา

ผลกระทบกับการส่งออกน่าจะเห็นชัดในสไตรมาส 2 เพราะได้มาสแรกผู้นำเข้ามีการสต็อกสินค้าไว้แล้ว แต่ไตรมาสหลังจากนี้น่าจะมีการชะลอตัว ผู้นำเข้าอาจจะชะลอการสั่งซื้อสินค้าเพื่อรอดูสถานการณ์

หลังจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 9 เม.ย.คงต้องติดตามว่ากระทรวงพาณิชย์ ทีมไทยแลนท์ จะเร่งเจรจากับสหรัฐฯขอปรับลดภาษีหรือแลกเปลี่ยนสินค้านำเข้ากันอย่างไร เพราะมีบางสินค้าที่หากแลกเปลี่ยนอาจจะกระทบกับผู้ประกอบการไทย-เกษตรกรไทยได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยและทีมไทยแลนด์ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

อ่านข่าว:

 ส่งออก "ข้าวหอมมะลิไทย" สะเทือน สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% 

สหรัฐขึ้นภาษีไทย กระทบส่งออกหนัก แนะปฏิรูปโครงสร้างผลิต

ทรัมป์ ขึ้นภาษี ไทยสูญ 8 พันล้าน เอกชนจี้ "เพิ่มนำเข้า-เจรจา FTA"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง