แนะปชช.เลือกซื้อไก่สดจากร้านค้าเจ้าประจำ
อธิบดีกรมอนามัยเตือนผู้ประกอบการเลิกใช้สารเคมีถนอมอาหารที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งแนะนำให้ประชาชนเลือกซื้อไก่จากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน ขณะที่ผู้ค้าไก่ยอมรับยอดจำหน่ายเริ่มตกต่ำ หลังมีการจับกุมโรงชำแหละไก่เถื่อนที่จังหวัดนครราชสีมา
หลังมีการจับกุมผู้ประกอบการโรงชำแหละไก่ตายที่นำมาชุบสารฟอร์มาลีน แล้วจำหน่ายในราคาถูก ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ค้าไก่ในตลาดสดยิ่งเจริญ ย่านสะพานใหม่หลายคน ยอมรับว่า มีผลกระทบต่อยอดจำหน่ายไก่ในช่วงนี้ที่ลดลงถึงร้อยละ 30-40 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นกังวลเรื่องความปลอดภัยและสอบถามแหล่งที่มาของไก่สดที่นำมาวางจำหน่ายมากขึ้น
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่สุ่มตรวจคุณภาพไก่สดที่ตลาดสดยิ่งเจริญวานนี้ (14 มิ.ย.) พบว่า หลังทดสอบหาสารฟอร์มาลีนและสารตกค้างต่างๆ จากแผงจำหน่ายไก่สดในตลาด จำนวน 50 แผง เบื้องต้นยังไม่พบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อไก่จากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐานได้รับการรับรองความปลอดภัยจากกรมอนามัย ระวังรถเร่ขายไก่สด และสังเกตความผิดปกติของสีและกลิ่น ซึ่งขณะนี้มีตลาดสดน่าซื้อทั่วประเทศที่ได้รับการรับรองแล้ว มีถึงร้อยละ 85 หรือ 1,291 แห่ง แต่หากผู้ประกอบการยังฝ่าฝืน จะมีโทษทั้งจำและปรับ และอาจทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อถือได้
นอกจากนี้ยังเตือนผู้ประกอบการไม่ให้นำสารเคมีที่ผิดกฎหมายมาใช้ในการถนอมอาหาร โดยเฉพาะสารฟอร์มาลีน สารต้องห้ามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งหากสัมผัสหรือสูดดมหรือรับประทานเข้าไป จะมีอันตรายเฉียบพลัน ทำให้ผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบ หรือมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเดิน ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้หมดสติ รวมถึงอาจกลายเป็นโรคมะเร็งและเสียชีวิตได้
สารฟอร์มาลีนมักนำไปในอุตสาหกรรมอย่างการผลิตผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้ายับ ขณะที่การนำไปใช้ในด้านอื่นๆ สารฟอร์มาลีนที่ความเข้มข้นตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป มีทั้งการนำไปใช้ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ฆ่าเชื้อรา ใช้เป็นน้ำยารักษาสภาพเนื้อเยื่อไม่ให้เน่าเสีย เพราะมีคุณสมบัติให้โปรตีนแข็งตัว นอกจากนี้ สารละลายที่ความเข้มข้น 0.004 จะช่วยป้องกันเชื้อราในข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต และป้องกันแมลงในธัญพืช
แต่ถ้าหากนำไปใช้ผิดประเภทแล้ว จะมีอันตรายต่อผู้ที่ได้สัมผัสอย่างมาก โดยอันตรายแบบเฉียบพลัน คือผู้ที่ได้รับสารฟอร์มาลีน จะปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
ขณะที่อันตรายแบบเรื้อรัง ถ้าหากบริโภคเกิน 60-90 ลูกบาศก์เซนติเมตร จะเป็นผลให้การทำงานของตับ ไต หัวใจ และสมองเสื่อมลง และปวดแสบปวดร้อน
ส่วนสารฟอร์มาลีนที่มีความเข้มข้นของฟอร์มาลดีไฮด์ระหว่าง 150-5,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อสัมผัสจะเกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง แต่หากบริโภคเข้าไป จะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอ ปวดศีรษะ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก
สำหรับวิธีการตรวจสอบเบื้องต้น ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ เช่น พวกไก่ หมู เนื้อวัว ให้สังเกตดูว่า ถ้าถูกแสงแดดหรือลมเป็นเวลานาน ก็ไม่ควรจะมีความสดมากเกินไป เช่นเดียวกับผักและผลไม้ ก็ไม่ควรมีความสดกรอบมากเกินไปเช่นกัน ถ้าหากเป็นผัก ให้ลองหักก้านดมดู หากมีกลิ่นฉุน แสบจมูก ก็ไม่ควรซื้อมารับประทาน ส่วนอาหารทะเล เช่น กุ้ง หากพบว่ามีเนื้อกุ้งแข็งบางส่วน แต่บางส่วนเปื่อยยุ่ย แสดงว่ามีการปนเปื้อนฟอร์มาลีน