ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทีดีอาร์ไอแนะรัฐชั่งน้ำหนักแผนลงทุน 2 ล้านล้าน คุ้มทุนหรือไม่

23 เม.ย. 56
08:26
78
Logo Thai PBS
ทีดีอาร์ไอแนะรัฐชั่งน้ำหนักแผนลงทุน  2 ล้านล้าน คุ้มทุนหรือไม่

โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ทีดีอาร์ไอ ระบุ โครงการกู้เงินนอกระบบงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท มี 18 โครงการที่ยังไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่ 11 โครงการที่ยังคลุมเครือ หวั่นไม่คุ้มทุน ชี้ ปี 63 หนี้อาจพุ่งถึง 75% ต่อจีดีพี หากลงทุนไม่เหมาะสม แนะรัฐบาลควรดำเนินการอย่างรอบคอบ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในทุกโครงการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม
 
กรณีอภิมหาโปรเจกต์ กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณ ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยสภาผู้แทนราษฎรผ่านความเห็นชอบวาระแรกแล้วนั้น  เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศครั้งใหญ่  ทำให้เกิดข้อกังขาและคำถามต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะงบประมาณในการก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงเกินไป เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าการลงทุนในด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA  
 
อย่างไรก็ตามขณะนี้ร่างดังกล่าวอยู่ในวาระที่สองของการแปรญัตติซึ่งยังมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศไทยได้   ล่าสุด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกมานำเสนอบทวิเคราะห์พร้อมข้อเสนอแนะในการเสวนาสาธารณะ "ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เดินหน้าอย่างไรให้ถูกทาง คุ้มค่า และเป็นประชาธิปไตย" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย
 
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  โครงการในการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พัฒนาด้านการขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการลงทุนเท่าที่ควร  และเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ในส่วนของการใช้เงินนอกงบประมาณที่ให้อำนาจสภาร่วมพิจารณาเพียงครั้งเดียวนั้น เป็นการตรึงอำนาจและขาดความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากให้อำนาจฝ่ายบริหารในการกำหนดรายละเอียดเป็นเวลาถึง 7 ปี ซึ่งเป็นการข้ามช่วงอายุปกติของรัฐสภา เพราะบัญชีท้าย พ.ร.บ.กำหนดเพียงจุดเริ่มต้นและปลายทางของเส้นทางรถไฟ แต่ไม่ได้กำหนดแนวเส้นทางระหว่างทางว่าผ่านพื้นที่ใดจังหวัดใดบ้าง และเป็นการก้าวล่วงอำนาจของสภาชุดต่อไปในการกลั่นกรองให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากปรับเปลี่ยนให้เป็นงบประมาณประจำปีจะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบได้
 
นายสมชัยยังตั้งข้อสังเกตว่า โครงการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ที่ยังไม่ตอบโจทย์ในด้านการลดต้นทุนการขนส่งหรือความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การเงินเท่าที่ควร เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงจะเน้นการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักเบาและการขนส่งคนเป็นหลัก ซึ่งเป็นการบริการให้กับประชาชนที่มีกำลังพอที่จะโดยสารได้ อาจส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของรัฐในการพัฒนาประเทศ เมื่อเทียบกับรถไฟทางคู่ที่ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศเทศได้ดีกว่า
 
ทีดีอาร์ไอ ประเมินเบื้องต้นว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5.5%ต่อปีในช่วงปี 2557-2563 โดยมีอัตราเงินเฟ้อ 2.75% ต่อปี ซึ่งหากลงทุนคุ้มค่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง 8.25% ต่อปี แต่หากลงทุนไม่คุ้มค่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 7.5% ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะ จะเพิ่มสูงถึง 75% ต่อจีดีพีในปี 2563 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในเรื่องอื่นๆด้วย
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง