ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แรงงานไทยเผชิญการเปลี่ยนผ่านที่การดูแลยังไม่ดีพอ

30 เม.ย. 56
08:38
85
Logo Thai PBS
แรงงานไทยเผชิญการเปลี่ยนผ่านที่การดูแลยังไม่ดีพอ

โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 ภาพรวมแรงงานไทยในช่วงที่ผ่านมา เผชิญการเปลี่ยนผ่านหลายเรื่องที่ยังไม่มีการดูแลที่ดีพอ ตั้งแต่ช่วงผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ และการปรับค่าจ้าง 300 บาท/วันทั่วประเทศ  พบว่าแรงงานที่ไหลกลับไปสู่ภาคเกษตรกลับเข้ามาสู่แรงงานในระบบน้อยเกินคาด กลายเป็นการไปเพิ่มจำนวนแรงงานที่ขาดความมั่นคงในภาคเกษตร เป็นทั้งนายจ้างและแรงงานนอกระบบ จึง เรียกร้องให้เพิ่มความคุ้มครองให้ครอบคลุมกลุ่มของคนทำงาน 

 
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาในภาพรวมดูเหมือนแรงงานได้รับการดูแลมากขึ้นในเรื่องค่าจ้างพื้นฐาน 300 บาท แต่ในด้านการคุ้มครองแรงงานยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าและมีความเหลื่อมล้ำลักลั่นกันตั้งแต่การเข้าสู่ระบบ การได้รับบริการจากระบบ และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากระบบ  ทั้งกองทุนประกันสังคมที่ดูแลเฉพาะแรงงานในระบบหลัก  

ส่วนกองทุนเงินทดแทนซึ่งลูกจ้างจะได้รับเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงานของลูกจ้างที่ทำงานเต็มเวลา ขณะที่มีนายจ้างที่มีการจ้างแรงงานจำนวนมากเป็นบางช่วงเวลาหรือช่วงฤดูกาล ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ  ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ถึงเวลาที่เราควรสร้างระบบที่ครอบคลุมไม่เหลือมล้ำและเป็นธรรม 

“ปัญหาตอนนี้ถ้าดูในรายละเอียดจะเห็นว่าในรูปแบบการคุ้มครองแรงงานระหว่างแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบนั้นยังมีความเหลื่อมล้ำหรือเขย่งกันอยู่ค่อนข้างชัดเจน   แรงงานในระบบได้รับการดูแลค่อนข้างดีมาตลอด แต่ในส่วนของแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ที่จริงจังนัก จะเห็นได้จากการให้ความคุ้มครองทั้งหลายซึ่งก็จะมีข้อยกเว้นอยู่หลายเรื่องและหากดูสิทธิประโยชน์ระยะยาวที่จะได้รับจากประกันชราภาพและกองทุนเงินออมแห่งชาติก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มอย่างจริงจังเมื่อไร ข้อตกลงในการเก็บอัตราสมทบก็ยังไม่มีข้อยุติและดำเนินไปอย่างล่าช้า  แม้แต่แรงงานในระบบเมื่อถึงวัยได้รับสิทธิประโยชน์ชราภาพถึงจะรวมกับเบี้ยยังชีพชราภาพแล้วก็จะมีรายได้เพื่อการยังชีพเพียง 3,000-4,000 บาทต่อเดือนซึ่งนับว่าไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป”
 
ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า คนกลุ่มนี้ได้แก่  คนทำงานบ้าน แรงงานประมง  แรงงานภาคเกษตร ที่ไม่ได้ทำงานต่อเนื่องตลอดปี หรือทำงานตามฤดูกาล รวมถึงแรงงานพาร์ทไทม์  คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนค่อนข้างสูงล้วนแต่จะมีปัญหาความมั่นคงในระยะยาว   ตรงนี้เป็นจุดอ่อนซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุม เพราะโดยหลักการตามกฎหมายคนทำงานทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองโดยกองทุนประกันสังคมควรปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมสามารถนำสัดส่วนของผลประโยชน์มาสมทบ เพื่อทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น   
 
ขณะที่กองทุนเงินทดแทนยังมีช่องว่างไม่ครอบคลุมการคุ้มครองของกลุ่มแรงงานพาร์ทไทม์ซึ่งมีจำนวนหลายล้านคน ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังพิจารณาให้ทีดีอาร์ไอศึกษาแนวทางการขยายความคุ้มครองกลุ่มเหล่านี้ 
 
ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแรงงานคือ มีการเปลี่ยนผ่านหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ  คือตั้งแต่น้ำท่วมเรื่อยมาจนถึงการขึ้นค่าจ้างรอบแรกและรอบที่สอง(300 บาททั่วไทย)  ซึ่งมีผลกระทบค่อนข้างกว้างขวางต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ   การประเมินผลกระทบรอบแรกพบข้อมูลสำคัญ ภาคเกษตรที่ควรได้รับผลกระทบน้อยกลับกลายเป็นภาคที่ถูกผลกระทบมาก  เพราะภาคเกษตรไทยซึ่งยังใช้เทคโนโลยีที่ช่วยผ่อนแรงน้อยยังคงใช้แรงงานเป็นหลัก  ค่าแรงจึงเป็นต้นทุนสำคัญที่เพิ่มภาระ 
 
ขณะที่ผู้ประกอบการในภาคเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเล็กรายย่อยไม่มีศักยภาพในการจ่ายค่าจ้างพื้นฐานที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน ประกอบกับสภาพการทำงานที่หนัก เหนื่อยไม่จูงใจ ไม่มีสวัสดิการในการทำงาน ดังนั้นปัญหาของภาคเกษตรเผชิญปัญหาต้นทุนสูง พร้อมๆกับการยังขาดแคลนแรงงาน และในด้านการคุ้มครอง แรงงานภาคเกษตรส่วนใหญ่คือแรงงานอายุมาก  อมโรค ในระยะยาวจึงมีปัญหาความมั่นคงในชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพ มีเกษตรกรเพียงไม่ถึง 10%ที่จะมีเงินออมเพียงพอจะช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ  จึงอยากให้ใส่ใจแรงงานหรือคนทำงานภาคเกษตรที่สิทธิสวัสดิการยังเหลื่อมล้ำกับแรงงานในระบบ  และถูกละเลยมาตลอด
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง