นิด้าโพลชี้ปชช.ยังไม่ตัดสินใจเลือกคน-พรรคไม่ถึงร้อยละ 30
นิด้าโพลระบุ เหลือผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกคนและเลือกพรรคไม่ถึงร้อยละ 30 ขณะที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่เตรียมเปิดกลยุทธ์โจมตีจุดอ่อนพรรคฝ่ายตรงข้าม โดยพรรคเพื่อไทยเปิดปราศรัยใหญ่เย็นนี้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่แยกราชประสงค์
<"">
<"">
พรรคประชาธิปัตย์เตรียมเปิดเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ โดยเป้าหมายไม่เพียงการชี้แจงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แต่เตรียมเปิดนโยบายการสร้างความปรองดองในบ้านเมือง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การเลือกสถานที่ปราศรัยใหญ่มีเจตนาประกาศ "รับภาระดับไฟใจกลางเมือง" ให้กับประเทศ โดยไม่ได้รู้สึกหวั่นไหวที่จะถูกกล่าวหาโจมตีว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะเน้นชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ประณามพรรคเพื่อไทย กรณีเหตุการณ์กลุ่มคนสวมเสื้อแดงรุมทำร้ายผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และย้ำว่า พรรคเพื่อไทยต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเตรียมจะนำภาพเหตุการณ์ไปเปิดเผยที่เวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์ และเน้นย้ำให้คนกรุงเทพฯ เข้าใจในข้อเท็จจริงของกิจกรรมคู่ขนาน ระหว่างพรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช. พร้อมระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรวินิจฉัยดำเนินการตามกฎหมายด้วย แม้พรรคประชาธิปัตย์จะยังไม่เข้าร้องเรียน แต่พฤติกรรมที่เห็น ควรได้รับการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย จะขึ้นเวทีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นคนสุดท้าย ในช่วงเวลา 21.00 น. พร้อมวางกรอบที่จะพูดถึงแนวนโยบายการสร้างรายได้ การปรองดอง มองอนาคต เพื่อให้คนไทยกินดีอยู่ดีมีความสุขกว่าเดิม ก่อนหน้านั้นจะเป็นปราศรัยขอคะแนนให้ผู้สมัครทีมฝั่งธนบุรี โดยแกนนำพรรคอย่างนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดย รศ.พาชิดชนัด ศิริพานิช เปิดเผยการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,247 ตัวอย่างในทุกภูมิภาค พบว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกส.ส.ระบบเขต อยู่ที่ร้อยละ 28.07 ขณะที่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 29.51 ส่วนที่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ มีร้อยละ 17.40
สำหรับการตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 17.40 และตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 30.47 ขณะที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใดเลย มีร้อยละ 27.51 และพบว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแสดงตัวเลือกพรรคและผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทยแล้ว แต่ในอัตราเฉลี่ย ยังไม่ถึงร้อยละ 3 หากแต่มีความชัดเจนกว่าพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก