ผู้นำฝ่ายค้านชี้ ร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี57 ไม่ตรงประเด็น-แนะสมช.ทวนแนวทางพูดคุยบีอาร์เอ็น

การเมือง
30 พ.ค. 56
08:07
54
Logo Thai PBS
ผู้นำฝ่ายค้านชี้ ร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี57 ไม่ตรงประเด็น-แนะสมช.ทวนแนวทางพูดคุยบีอาร์เอ็น

ผู้นำฝ่ายค้านระบุรัฐบาลชี้แจงร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ไม่ตรงประเด็น ขณะที่เสนอแนะสมช.ให้ทบทวนแนวทางพูดคุยกับขบวนการบีอาร์เอ็น หลังเผยแพร่คลิปผ่านยูทูปรอบ 3

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ว่า ฝ่ายค้านพุ่งเป้าที่การใช้จ่ายงบประมาณในทางการเกษตร ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ และอยากให้รัฐบาลทบทวนแนวทาง เพราะโครงการรับจำนำข้าวเห็นว่ามีความสูญเสียชัดเจน ขณะที่รัฐบาลยังชี้แจงไม่ตรงประเด็น โดยเฉพาะเรื่องที่พรรคชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรได้รับเงินเพียงร้อยละ 40-50 เท่านั้น แต่ที่เหลือสูญเสียไปกับการทุจริต ซึ่งหากเดินหน้าต่อ พรรคประชาธิปัตย์คงไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ และการที่นายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่สามารถระบายข้าวได้ เพราะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทนั้นไม่ตรงความจริง เนื่องจากการกำหนดแผนโครงการรับจำนำข้าวผิดเป้ามาโดยตลอด และเห็นความสูญเสียชัดเจน หากอ้างผลกระทบค่าเงินบาท ประเทศอื่นๆที่ขายข้าวได้มากกว่าไทย จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินด้วย ดังนั้นจึงอยู่ที่ความไม่ถูกต้องของนโยบายมากกว่า

ทั้งนี้ยืนยันว่า การอภิปรายของฝ่ายค้านที่ผ่านมาตรงประเด็น อยู่ในกรอบการใช้งบประมาณปี 2557 โดยเป็นการชี้ให้เห็นถึงทางที่จะมีการทุจริต และเม็ดเงินที่จะสูญเสียไป และไม่ได้เป็นการมุ่งโจมตีรัฐมนตรีรายบุคคล เหมือนการอภิรายไม่ไว้วางใจ แต่เป็นการพูดในภาพรวมซึ่งไม่ผิดข้อบังคับ ดังนั้นขอให้รัฐบาลอย่าใช้วิธีการประท้วงในช่วงที่การอภิปรายอยู่ในประเด็น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า การเผยแพร่คลิปผ่านยูทูปของกลุ่มบีอาร์เอ็น รอบที่ 3 ปฎิเสธว่าไม่ได้เป็นฝ่ายก่อความรุนแรง แต่เป็นฝ่ายรัฐไทย ที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. จะต้องทบทวนแนวทางการพูดคุย และต้องเปลี่ยนท่าที เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะต้องไปพูดคุยกับกลุ่มที่กล่าวหาว่ารัฐใช้ความรุนแรง และไม่มีความจริงใจในการที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา ด้วยการสร้างความเข้าใจผิดในสายตาของนานาประเทศ โดยการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง โฆษณาชวนเชื่อ เกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งหากยังยืนยันเดินหน้าพูดคุยต่อไม่น่าจะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อย และจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มบีอาร์เอ็นในการสร้างความเข้าใจที่ผิด

ส่วนการที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันจะเดินหน้าต่อเพราะเป็นการเพิ่มช่องทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้น ควรประเมินว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา การเพิ่มช่องทางการพูดคุยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ในทางกลับกันเป็นช่องทางหนึ่งที่สะท้อนความอ่อนแอ ความไม่ชัดเจนและความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาล ดังนั้นหากรองนายกรัฐมนตรีจะไปพูดคุยในพื้นที่จะต้องมีความชัดเจน และที่สำคัญควรพิจารณาด้วยว่าหากกลุ่มบีอาร์เอ็น ไม่สามารถควบคุมแนวร่วมหรือระงับความรุนแรงในพื้นที่ได้ ควรจะพูดคุยอีกหรือไม่ และหากนายกรัฐมนตรีจะทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหาขณะนี้ยังไม่สาย  ซึ่งฝ่ายค้านไม่ได้มองว่าล้มเหลว แต่อย่างน้อยหากแก้ไม่ได้ก็ไม่ควรทำให้แย่กว่าเดิม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง