ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จำนำข้าวปี 55/56 ขาดทุน 100,000 ล้านบาท

เศรษฐกิจ
1 มิ.ย. 56
14:49
235
Logo Thai PBS
จำนำข้าวปี 55/56 ขาดทุน 100,000 ล้านบาท

ความผิดพลาดในโครงการรับจำนำข้าวได้ถูกหยิบยกขึ้นมาในการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 โดยพรรคประชาธิปัตย์ระบุผลของโครงการว่าได้สร้างความเสียหายกว่า 200,000 ล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ล่าสุด คณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรได้ส่งรายละเอียดผลการดำเนินโครงการฯ โดยรายงานผลขาดทุนเกือบ 300,000 ล้านบาท โดยเฉพาะปีการผลิต 2555/2556 เกิดความเสียหายประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดตั้งแต่มีโครงการนี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร เปิดเผยว่า ได้สรุปผลโครงการรับจำนำข้าวให้ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว โดยระบุถึงผลการดำเนินงาน, ข้อเสนอแนะ และการปิดความเสี่ยงของโครงการ โดยเฉพาะการบริหารสต็อกข้าว, การระบายข้าวที่ขาดประสิทธิภาพ และพบว่ายังมีช่องโหว่

ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐบาลควรใช้กลไกด้านราคาให้สอดคล้องกับกลไกตลาด ส่วนอุปสรรคจากการปิดบัญชีโครงการนี้คือ ไม่ได้รับความร่วมมือจากกรมการค้าต่างประเทศในการให้ข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นความลับ

ข้อมูลที่นำเสนอระบุด้วยว่าโครงการรับจำนำข้าวปี 2547 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2556 รวม 17 โครงการ ขาดทุนเกือบ 300,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2555/2556 ขาดทุนมากที่สุดประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่มีโครงการรับจำนำข้าว

สอดคล้องกับข้อมูล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนักวิชาการ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ที่ประเมินก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลอาจขาดทุนจากโครงการนี้ปีละ 140,000  - 170,000 ล้านบาท

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสผ่านเว็บไซต์เฟสบุ้คว่า โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนแล้ว 206,000 ล้าน และเมื่อรวมค่าบริหารจัดการข้าว 30,000 ล้านบาท และค่าเสื่อมของข้าว 20,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดทุนประมาณ 260,000 ล้านบาท ส่วนการระบายข้าวทำได้เพียงร้อยละ 15 ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ไม่เชื่อว่าโครงการนี้จะขาดทุนถึง 260,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2554/2555 และ 2555/2556 รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 600,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 300,000 ล้านบาท โดยนำแหล่งเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 90,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังจัดหาให้วงเงิน 410,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ 2,000,000 ล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง