สถานีโทรทัศน์
เมื่อวานนี้ (17 มิถุนายน) นายแอนโตนิส ซามาราส นายกรัฐมนตรีของกรีซหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลนานถึง 3 ชั่วโมง เกี่ยวกับการปิดสถานีโทรทัศน์อีอาร์ที และ การเปิดสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ขึ้นมาแทน แต่การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป โดยจะหารือกันอีกครั้งในวันพุธนี้ จะเป็นการหารือในรายละเอียดถึงการเปลี่ยนผ่านจากสถานีโทรทัศน์อีอาร์ที ไปสู่สถานีโทรทัศน์ช่องใหม่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศกรีซเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ จนต้องขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยรัฐบาลกรีซจะต้องปรับลดรายจ่ายภาครัฐ เพิ่มการจัดเก็บภาษี และปฏิรูประบบราชการ ตามเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือ แต่การสั่งปิดสถานีโทรทัศน์อีอาร์ที เพื่อลดรายจ่ายของรัฐในครั้งนี้ กลับกลายเป็นประเด็นที่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลที่เพิ่งบริหารประเทศได้เพียง 1 ปี เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นในเรื่องนี้แตกต่างกัน หากนายซามาราสยังยืนยันที่จะปิดสถานีโทรทัศน์ก็อาจทำให้รัฐบาลล้มและต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
ขณะที่ศาลสูงที่สหภาพแรงงานของสถานีโทรทัศน์อีอาร์ที ยื่นเรื่องให้พิจารณา ได้ ตัดสินให้ระงับคำสั่งของรัฐบาลที่สั่งปิดสถานีโทรทัศน์เมื่อ 6 วันก่อน โดยจะให้ออกอากาศไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งชาติช่องใหม่
ซึ่งถือเป็นทางออกของทุกฝ่าย โดยพนักงานของสถานีก็มีโอกาสเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนจะถูกเปลี่ยนผ่านไปทำงานกับสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่าเดิม จำนวนพนักงานน้อยลง และการบริหารงานและงบประมาณจะโปร่งใสมากขึ้น พนักงานที่ถูกเลิกจ้างจากอีอาร์ทีจะได้รับเงินชดเชย และในจำนวนนี้จะมีพนักงานเก่าเพียงบางส่วนเท่านั้นจะได้เข้าไปทำงานในสถานีใหม่
ผลการสำรวจความเห็นของชาวกรีกล่าสุดจาก 3 สำนัก ที่เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 64 - 68 ไม่เห็นด้วยกับการปิดสถานีโทรทัศน์อีอาร์ที แต่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของโทรทัศน์ช่องนี้ ที่ถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ ผลาญงบประมาณของรัฐ แต่รายการที่นำเสนอไม่เข้าตาประชาชน มีการเล่นพรรคเล่นพวกในองค์กร
สาเหตุหนึ่งที่ประชาชนไม่ต้องการให้ปิดสถานีโทรทัศน์ช่องนี้ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นแบบอย่างให้รัฐบาลสั่งปิดองค์กรอื่นๆของรัฐด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ