<"">
ผู้นำบราซิลตัดสินใจยกเลิกการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น หลังสถานการณ์การประท้วงรุนแรงมากยิ่งขึ้น และจำนวนผู้ประท้วงก็เพิ่มขึ้น มีการประเมินตัวเลขของผู้ที่ออกมาชุมนุมประท้วงทั่วประเทศคาดว่ารวมแล้วมีมากกว่า 1 ล้านคน
ตำรวจและทหารวางกำลังรักษาความปลอดภัยรอบอาคารรัฐสภาและทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงบราซิลเลีย เมืองหลวงของบราซิล การประท้วงซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ในทางตรงกันข้ามกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้นางดิลม่า รุสเซฟ ประธานาธิบดีหญิงตัดสินใจยกเลิกแผนการเยือนประเทศญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า เพื่อติดตามสถานการณ์การประท้วง
ที่นครเซาเปาโล ประเมินว่ามีผู้ประท้วงราว 110,000 คน ส่วนที่นครริโอเดอจาเนโรประเมินว่ามีมากถึง 300,000 คน และที่กรุงบราซิลเลียมีรายงานว่าผู้ประท้วงส่วนหนึ่งพยายามบุกเข้าไปในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตำรวจกำลังสกัดไว้
เมื่อวานนี้ (20มิ.ย.56) ทางการได้ประกาศยกเลิกการขึ้นค่าโดยสารบริการขนส่งสาธารณะเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ โดยหวังว่าการประท้วงจะบรรเทาเบาบางลง แต่สถานการณ์ไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ เพราะสาเหตุของการประท้วงเกิดจากปัญหาหลายๆอย่างที่สะสมมานานนับปี ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีในอัตราสูง, ภาวะเงินเฟ้อ,การทุจริตคอร์รัปชั่นและบริการสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล,การศึกษา,ถนนหนทาง ไม่ดีเท่าที่ควร แต่รัฐบาลกลับทุ่มงบประมาณมากกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือประมาณ 780,000 ล้านบาทไปกับการสร้างสนามกีฬาและเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีหน้าและมหกรรมกีฬาโอลิมปิคในปี 2016
โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงบริการสาธารณะให้ดีขึ้นและปรับการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับโลกให้เหมาะสม ผู้ประท้วงหลายคนบอกว่าไม่อยากให้บราซิลเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเหล่านี้ แต่อยากให้รัฐบาลสนใจความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่า ด้านคณะกรรมาธิการโอลิมปิคสากลหรือ"ไอโอซี" ออกแถลงการณ์ระบุว่า กีฬาโอลิมปิคจะทำให้เกิดประโยชน์ประชาชนในนครริโอเดอจาเนโร ทั้งในแง่ของการขนส่งมวลชน,สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและที่พักอาศัย ไอโอซีสนับสนุนการประท้วงอย่างสันติของชาวบราซิล และไอโอซียังคงเชื่อมั่นว่ากีฬาจะช่วยทำให้โลกใบนี้พัฒนาดีขึ้น