ปรับคาดการณ์จีดีพี เงินเฟ้อและดอกเบี้ย ปี 2013

เศรษฐกิจ
2 ก.ค. 56
08:56
83
Logo Thai PBS
ปรับคาดการณ์จีดีพี เงินเฟ้อและดอกเบี้ย  ปี 2013

โดย ดร. ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยพาณิชย์

 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เงินเฟ้อ และปรับคาดการณ์จีดีพี ปี 2013 ขยายตัวได้ 4.5-5.0%

 
การส่งออกของไทยขยายตัวน้อยกว่าที่คาด จากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว การส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีขยายตัวได้เพียง 1.9% โดยปัจจัยหลักคือการส่งออกไปจีนที่หดตัวจากความต้องการสินค้าขั้นกลางในภาคการผลิตของจีนที่ลดลง แม้ว่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลังตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ในภาพรวมจะขยายตัวได้อย่างจำกัดในปีนี้
 
การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มแผ่วลงในช่วงหลังของปีภายหลังจากที่รถยนต์ส่วนใหญ่ภายใต้นโยบายรถคันแรกได้ส่งมอบไปแล้วในครึ่งปีแรก อีกทั้งความผันผวนของราคาสินทรัพย์จากแนวโน้มเงินทุนไหลออก และการลดราคารับจำนำในโครงการรับจำนำข้าวของภาครัฐ จะส่งผลให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง
 
คาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.5-5.0% ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีสัญญาณแผ่วลง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งการส่งออกที่น่าจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในช่วงหลังของปีจะสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ยังคงเติบโตได้ในกรอบ 4.5-5.0%
 
 
เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยปี 2013 จะอยู่ที่ราว 2.6 % และ 1.3% ตามลำดับ
 
แรงกดดันด้านราคาในครึ่งปีหลังยังคงมีน้อยจากราคาพลังงานในประเทศที่ยังคงทรงตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและมาตรการดูแลค่าครองชีพจากภาครัฐ รวมถึงการบริโภคที่น่าจะยังคงชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี แผนการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนในช่วงเวลาที่เหลือของปียังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ 
 
อัตราดอกเบี้ยนโยบายเงินบาท   คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ 2.50% จนถึงสิ้นปี 2013
 
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ ระดับปัจจุบันมีความเหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจพิจารณาปรับลดลงเพิ่มเติมหากการใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ภาวะเงินทุนไหลออกจากการส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (การลดขนาด QE) จะไม่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทย เนื่องจากไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดวิกฤติดุลการชำระเงิน 
 
อย่างไรก็ดี ด้วยแนวโน้มการบริโภคภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อาจมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หากปรากฏว่าการบริโภคภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวต่ำกว่าที่คาดในช่วงที่เหลือของปี
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง